IAF 2022 ep6 นายกเทศมนตรีหญิง 2 คน 2 สไตล์

การสัมมนาเรื่องการเมืองท้องถิ่นฯ ครั้งนี้ผมได้มีโอกาสพบกับนายกเทศมนตรีหญิง 2 คน 2 สไตล์ ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นนายกเทศมนตรีมาตั้งแต่ปี 2020 นั่นคือทำงานมาแล้ว 2 ปี


คนแรกที่พบคือคุณ Eliza Diekmann นายกเทศมนตรีเมือง Coesfeld เมืองนี้มีประชากร 37,000 คน คุณ Eliza บอกว่าแรงบัลดาลใจในการสมัครลงเลือกตั้งคือ อยากเห็นเมืองนี้เปลี่ยนแปลง ซึ่งเธอส่งสมัครแบบอิสระ ช่วงหาเสียงนอกจากการเดินเคาะประตูบ้านเจอผู้คนแล้ว เธอยังเป็นร้านกาแฟ เป็นสเปชให้คนมาพูดคุยด้วย และเป็นที่จัดกิจกรรมออนไลน์ผ่าน Zoom หรือ Facebook Live ซึ่งคุณ Eliza บอกว่าช่วงหาเสียงเป็นช่วง COVID-19 กำลังระบาด กิจกรรมออนไลน์ช่วยเธอได้มาก โดยรายการที่จัดมีทั้งชวนคนในเมืองมาพูดคุยปัญหาของเมือง และ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่คุณ Eliza มีเครือข่ายอยู่ ตอนที่เธอยังทำงานเป็นนักข่าวมาพูดในประเด็นใหญ่ ๆ เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ


หลังชนะเลือกตั้งความท้าทายที่เธอเจอคือ การเข้ามาทำงานกับเจ้าหน้าที่เทศบาล เพราะเจ้าหน้าที่เทศบาลมองเธอว่าเธอไม่รู้เรื่องการบริหาร คุณ Eliza เลยจัดวงคุยกับเจ้าหน้าที่หลายครั้งเพื่อวางเป้าหมายการทำงานด้วยกัน จนตอนนี้ทำงานด้วยกันได้ดี


ส่วนการบริหารเมือง คุณ Eliza ทำเรื่องพื้นที่สาธารณะ เธอบอกว่าแรก ๆ ไม่ค่อยมีคนออกมาเดินเล่นโดยเฉพาะเด็ก ๆ โดยใช้คำพูดว่า "ถ้าไม่มีเด็ก ๆ ออกมาข้างนอก ก็ไม่มีผู้ใหญ่ออกมาข้างนอกเช่นกัน" ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่ ๆ เด็กๆ จะออกมาวิ่งเล่นได้ ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือการลดใช้พลังงาน และ เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เช่นจากกังหันลม และการทำระบบขนส่งสาธารณะให้ดีเพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ลง 20% ในปี 2025


คนที่ 2 ที่ได้พบคือคุณ Ursula Baum นายกเทศมนตรีเมือง Kaarst ใกล้กับเมือง Dusseldof เมืองนี้มีประชากร 51,000 คน คุณ Ursula ลงสมัครในนามพรรค FDP ประเด็นที่สำคัญคือเมื่อเธอเข้ามารับตำแหน่ง เธอได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร เธอไม่ต้องการสำนักงาน แต่ต้องการทำให้เป็นสเปช เธอจึงปรับปรุงพื้นที่ทำงานให้มีพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่มาใช้ร่วมกันมากขึ้น แบบแนวออฟฟิศบริษัท Start up และลดขั้นตอนการทำงาน เอาเรื่องดิจิทัลมาให้บริการประชาชนมากขึ้น


จะเห็นว่าปัญหาการทำงานของนายกเทศมนตรีใหม่น่าจะคล้ายกันทั้งหมดคือ การเข้ามาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำของเทศบาล ซึ่งบ้านเราก็เรียกว่าฝ่ายข้าราชการประจำ สิ่งที่ดีคือนายกเทศมนตรีที่เยอรมันมีอำนาจบริหาร ที่จะเปลี่ยนระบบ ระเบียบการทำงานขององค์กรได้ ไม่ได้ยึดระเบียบจากส่วนกลางเหมือนไทย


ทั้งสองมีข้อแตกต่างเรื่องการลงสมัคร คนหนึ่งลงแบบอิสระ คนหนึ่งลงในนามพรรค ซึ่งการลงในนามอิสระคงออกแรงมากกว่าในการพูดคุย ทำงานร่วมกับสมาชิกสภาเมืองที่สังกัดพรรคการเมือง สถานการณ์อาจคล้าย ๆ กรุงเทพมหานคร แต่ที่เห็นคือยังไงการเมืองระดับท้องถิ่นที่เยอรมันก็ยังให้ความสำคัญกับตัวบุคคล มากกว่าพรรค เพราะต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ต่างจากการเมืองระดับชาติอย่างชัดเจน