กระทู้ถาม 001 ร. การเข้าร่วม Open Government Partnership

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์กระทู้ถามที่ ๐๐๑ ร. ที่ผมยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินการสมัครเข้าร่วมเป็น ภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership : OGP) ของกระทรวงการคลัง










ความเป็นมาของ (Open Government Partnership : OGP) ผมเคยเขียนไว้ใน blog ของผมที่ https://klaikong.in.th/post/open-government-monday-ep11

เรื่องรัฐเปิดเผย หรือ Open Government เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญ เพื่อที่จะทำให้การบริหารงานภาครัฐ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส และมีความเป็นนวัตกรรม ดังนั้นเรื่อง OGP จึงเป็นเรื่องที่ผมตั้งใจตั้งกระทู้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562

ในกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีมีคำถามหลัก 2 คำถามว่า

  1. เหตุใดกระทรวงการคลังจึงไม่สามารถปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เพื่อเข้าร่วม Open Government Partnership (OGP) ได้ และยุติ เรื่องดังกล่าวไป

  1. รัฐบาลมีนโยบายท่ีจะเข้าร่วม Open Government Partnership (OGP) หรือไม่ อย่างไร และหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ถามของผมในราชกิจจาฯ สรุปว่า

  1. กระทรวงการคลัง เห็นว่าการดำเนินการของ OGP คล้ายกับกระบวนการมอบรางวัล บริหารราชการ แบบมีส่วนร่วม ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงมอบให้ ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OGP
  2. ปัจจุบันประเทศไทย ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานแล้ว แต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ การประเมินเพิ่มเติม นั่นคือ การยอมให้ภาคประชาสังคมมามีส่วนร่วม และ การต่อต้านจากภาคประชาสังคม

โดยคณะกรรมการ OGP ที่ ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพมีแนวทางดำเนินการต่อไปคือ 1. ทำเว็บไซต์ 2. สร้างเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคม เพื่อทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อเข้าร่วม OGP 3. การสร้างเวทีให้เกิดการหารือร่วมกัน ในการดำเนินโครงการของรัฐ

ในความเห็นผม คือ เรื่องการให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพในการเข้าร่วม OGP เนื่องจากกระทรวงการคลังดูแลเรื่องงบประมาณ หากโครงการของรัฐไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแบบรัฐเปิดเผย หรือ Open Government ก็จะมีกระบวนการทางการตั้งและเบิกจ่ายงบประมาณบังคับใช้ การมอบหมายให้ ก.พ.ร.เป็นเจ้าภาพ คือการโยนเรื่องนี้ออกไป โดยให้เรื่องรัฐแบบเผย มีส่วนร่วมกลายเป็นแค่แนวปฏิบัติ แต่ ไม่มีผลในการบังคับใช้ ในเอกสารที่นายกรัฐมนตรีตอบกระทู้มา พบว่าปี 2562 คณะกรรมการ OGP มีการประชุมเพียง 2 ครั้ง การดำเนินการเรื่องสำคัญทั้ง การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเพื่อทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ การสร้างเวทีให้เกิดการหารือร่วมกัน ไม่ได้ดำเนินการในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

การเข้าร่วมเป็น ภาคี OGP ที่แน่ ๆ คือ จะยกระดับด้านความโปร่งใส และ ดัชนีที่องค์กรต่าง ๆ ที่ประเมินเราจะดีขึ้น เช่น ดัชนีด้านความโปร่งใสนาาชาติ (CPI Index) ที่วันนี้อินโดนีเซียได้อันดับดีกว่าเรา (อินโดนีเซีย เป็นสมาชิก OGP ตั้งแต่ปี 2011)

สรุปคือทำแผน ทำแนวทางที่ดี แต่ไม่ทำจริง



ดาวน์โหลดเอกสาร ราชกิจจานุเบกษา เรื่องกระทู้ถามที่ ๐๐๑ ร. ที่นี่
Download PDF