Open Government Monday EP11

[Open Government Monday]
[Open Government รู้จักกับ Open Government Partnership]
ไกลก้อง ไวทยการ


ทุกวันจันทร์ผมจะโพส เกี่ยวกับ Open Government ทั้งไอเดียที่จะนำมาใช้ และ กรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อขยายภาพนโยบาย #Opengoverment หรือ #รัฐเปิดเผย ของพรรค #อนาคตใหม่

รัฐเปิดเผยหรือ Open Government ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิด แต่มีกลุ่มประเทศและ องค์กรระหว่างประเทศ ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นหลักในเรื่อง การเชื่อมโยงการทำงานเรื่องรัฐเปิดเผยนั่นก็คือ Open Government Partnership วันนี้เรามาทำความรู้จักองค์กรนี้กัน

องค์กรนี้ก่อตั้งเมื่อ 20 กันยายน 2011 ระหว่างการประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ 8 ประเทศได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา ลงนามข้อตกลงร่วมกันจัดตั้ง Open Government Partnership (OGP) เพื่อขยายแนวคิดเรื่องรัฐบาลที่เปิดเผย โปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขยายการทำงานระหว่างรัฐกับประชาชน

หลักการสำคัญของ Open Government Partnership
  1. สร้างการมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี
  • การเป็นภาคีที่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐ และ ภาคประชาสังคม
  • มีความเป็นอิสระในการดำเนินการ
  • มีกระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างกัน
  1. เน้นปฏิบัติการ
  • รัฐบาล และ ภาคประชาสังคมร่วมกันสร้างสรรค์การทำงาน (co-creation action)
  • ยึดมั่นการดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำร่วมกัน
  • ภาครัฐต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อตกลง Open Goverment ที่ทำแผนร่วมกับภาคประชาสังคม
  1. มีความยืดหยุ่นแต่มุ่งมั่นให้ถึงเป้าหมาย
  • แต่ละประเทศเริ่มต้นทำ Open Government ในประเด็นที่ต่างกันได้
  • ทำงานกลับกลุ่มที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่กลุ่มที่เป็นผู้ริเริ่มงาน
  • เป็นกระบวนการแบบล่างขึ้นบน (bottom up)

ประเทศที่ต้องการร่วม Open Governmnet Partnership ต้องมีคุณสมบัติข้างต้นดังนี้
  • รัฐต้องความโปร่งใสด้านการจัดทำงบประมาณ เช่นการเปิดผยตัวเลขงบประมาณประจำปี และการใช้งานงบประมาณในโครงการต่าง ๆ ตามแนว Open Budget Index
  • ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ หรือรัฐเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ
  • มีการเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐ
  • มีช่องทางและกระบวนการมีส่วนของภาคประชาชน ตามแนวทางของ Democracy Index

กระบวนการการเข้าร่วม Open Government Partnership
  1. ยื่นความจำนงเข้าร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อน Open Government Partnership
  2. ทำแผนปฏิบัติการที่สำคัญคือแผน Open Data ระดับชาติ
  3. ดำเนินการตามแผนโดยขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และผู้มีอำนาจในรัฐบาล
  4. ติดตามและประเมินผลการทำงาน
  5. เสนอแผนรอบใหม่ทุก 3 ปี

ขณะนี้ Open Government Partnership มีประเทศเข้าร่วมแล้วกว่า 70 ประเทศ ทุกประเทศต้องส่ง action plan ของการทำงานร่วมกันเชิงนโบาย ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม เริ่มจากเรื่องการเปิดเผยข้อมูล #Opendata ซึ่งควรจะมีเรื่องพื้นฐาน เช่น เรื่องงบประมาณ รวมถึงเรื่องนโยบายในเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารของราชการ ช่องทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หลายประเทศที่เข้าร่วม #OGP เริ่มทำระบบงบประมาณแบบ bottom up ให้ประชาชนโหวดมีส่วนร่วมเช่น โหวด เห็นด้วยกับแผนงบประมาณของรัฐ เป็นต้น

ประเทศไทยเกี่ยวข้องกับ OGP อย่างไร
รัฐบาลปัจจุบันเน้นเรื่องการสร้างความโปร่งใส และต้องการสร้างกลไกเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในภาครัฐ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ ครม.วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ให้กระทรวงการคลังดำเนินการสมัครเข้าร่วม เป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership : OGP) ของประเทศไทย (http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99316924) แต่เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทาง OGP จึงยังไม่พิจารณาการเข้าร่วมของประเทศไทย และ กรมบัญชีกลาง ได้ขอยุติบทบาทในการดำเนินการเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อมีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้ง เรื่องนี้จึงต้องถูกทวงถามอีกครั้งจากการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร