
เนื่องจากการไปออสเตรเลียครั้งนี้ เป็นทุนของรัฐบาลออสเตรเลีย จึงมีโปรแกรมการเรียนรู้เรื่องการเมืองของออสเตรเลีย โดยการเป็นเยี่ยมชม อาคารรัฐสภาของออสเตรเลียที่แคนเบอรา

อาคารรัฐสภาหลังปัจจุบันเปิดใช้งานเมื่อปี ค.ศ. 1988 แทนอาคารรัฐสภาเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 โดยการเปิดประกวดแบบจากนานาชาติ จุดเด่นของอาคารคือ เสาธงขนาดยักษ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือหลังคา สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล ถือเป็นสัญลักษณ์ของอาคารและประเทศ


ที่น่าประทับใจคือ อาคารรัฐสภาของออสเตรเลีย เป็นพื้นที่สาธารณะ เปิดให้ประชาชนได้เข้าชม ทั้งห้องประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมถึงเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ โดยจุดกลางอาคาร เป็นโถงขนาดใหญ่ที่เมื่อมองขึ้นไปจะเห็นธงชาติออสเตรเลียโบกสะบัดอยู่เหนือหัว ตามทางเดินมีภาพศิลปะของศิลปินของออสเตรเลียโดยงานศิลปะของศิลปินอะบอริจิน วัตถุรัฐสภาที่สำคัญคือเอกสารที่รัฐบาลออสเตรเลียขอโทษชนพื้นเมือง เป็นการสำนึกต่อการกระทำในอดีตที่โหดร้ายของชาวยุโรปยุคล่าอาณานิคมต่อชนพื้นเมืองต่อแผ่นดินออสเตรเลีย

ส่วนอาคารรัฐสภาหลังเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1920 ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตยออสเตรเลีย สามารถชมห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเดิมที่ตกแต่งในสไตล์อังกฤษ รูปปั้นพระเจ้าจอร์จที่ 5 ที่น่าสนใจคือมี นิทรรศการ Hands on Democracy สำหรับเด็ก ๆ ซึ่งช่วยให้เข้าใจบทบาทของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และทางเดินยังจัดแสดงภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมือง


แน่นอนว่า ไปดูแล้วก็สะท้อนมาที่อาคารรัฐสภาไทยที่ลงทุนก่อสร้างเป็นหมื่นล้าน แต่ก็ใช้เป็นเฉพาะที่ประชุม ส.ส. ส.ว. และสำนักงาน ส่วนที่เปิดให้สาธารณะนั้นมีเป็นบางโอกาส หรือ ไม่ก็ต้องมาเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ การออกแบบก็ไม่ได้สะท้อนมิติของการเมืองการปกครองในระบอบประธิปไตย แต่กลับเอาคติไตรภูมิมาเป็นหลักออกแบบ ส่วนพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด พื้นที่สำหรับประชาชนนั้น มีน้อยและเข้าถึงยาก แต่ก็อยากบอกว่าพื้นที่การเรียนรู้ในอาคารรัฐสภาไทย สามารถพัฒนาขึ้นได้ หากผู้บริหารรัฐสภามีความจริงจังที่จะทำขึ้นมา โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ จัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ลดโครงการก่อสร้างที่ไม่จำเป็นก็ยังพอที่จะทำให้ อาคารรัฐสภาไทยเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดรับ และ เป็นมิตรกับประชาชน