ร่วมการประชุม ACSC/APF 2024 ที่ Timor-Leste


เมื่อปลายเดือนกันยายน ผมมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศติมอร์เลสเต (Timor-Leste) เพื่อร่วมการประชุม ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People’s Forum (ACSC/APF) 2024 หรือ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งปกติจะจัดในประเทศเดียวกันกับประเทศที่เป็นประธานอาเซียน แต่ปีนี้ไม่สามารถจัดการประชุมนี้ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ จึงต้องมาจัดที่กรุงดิลี ติมอร์เลสเต

ครั้งนี้เป็นการเดินทางมาติมอร์ฯ ครั้งแรก การเดินทางขาไปต้องไปค้าง 1 คืน ที่บาหลี อินโดนีเซีย เพื่อต่อเครื่องบิน ส่วนขากลับสามารถรอต่อเครื่องที่สนามบินบาหลีได้เลย ติมอร์เลสเต อยู่ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย ใช้เวลาบินจากบาหลีประมาณ 2 ชั่วโมง และอยู่ใกล้ เมืองดาวิน ของออสเตรเลีย ชื่อที่เราคุ้นเคยของประเทศนี้คือ ติมอร์ตะวันออก อดีตเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกต แต่หลังจากได้อิสรภาพจากโปรตุเกตในปี 2518 อินโดนีเชียก็เข้ามายึดครอง ทำให้ชาวติมอร์ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพ และได้เอกราชเมื่อปี 2545 แม้มีเวลาไม่มากในดิลีเมืองหลวง แต่ก็ได้มีโอกาสได้เดินเล่นริมทะเลชายหาดติมอร์ ก็จะเห็นทันทีว่าเป็นเมืองที่สวย น้ำทะเลใส อีกด้านนึงเป็นภูเขาสลับซับซ้อน อันที่จริงเราจะเห็นน้ำทะเลที่สวยใสสีน้ำเงินเขียวของติมอร์ตั้งแต่อยู่บนเครื่องบินที่กำลังร่อนลงที่สนามบินแล้ว ในเมืองยังมีบรรยากาศแบบโคโลเนียล ยังมีอาคารเก่าสมัยอาณานิคมโปรตุเกสให้เห็นอยู่บ้าง ถึงแม้ติมอร์จะมีทะเลที่สวยงาม แต่ในความเป็นจริงยังเป็นประเทศที่ยากจน แต่ก็กำลังเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งเงินสนับสนุนจากหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศ รัฐบาลติมอร์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านสังคม สร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง
Mr.José Ramos-Horta ประธานาธิบดีประเทศติมอร์เลสเต

APHR on ACSF/APF 2024
ภาพจาก : APHR
กลับมาที่การประชุม ACSC/APF ผมไปในนามขององค์กรสมาชิกรัฐสภาอาเซี่ยน (APHR) เพื่อพูดในหัวข้อ "Weakening of Democracy in Southeast Asia: The Use of Lawfare to Undermine Civic Space and Institutions" แปลเร็ว ๆ คือ การอ่อนแอของประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและทำลายสถาบันทางการเมือง โดยผมได้บรรยายถึง การใช้กลไกทางกฎหมายมายุบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทน และ เจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งตัวผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม มีการใช้กลไกกฎหมายดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง และ ปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในอาเซี่ยน ทั้ง กัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาว อินโดนีเซีย ล้วนมีสถานการณ์การใช้กฎหมายหรือนิติสงคราม กับฝ่ายตรงข้ามกับผู้กุมอำนาจทั้งสิ้น

เป็นประสบการณ์ในการเดินทางไปยังดินแดนใหม่ ๆ และดีใจที่มีโอกาสมาติมอร์เลสเต หลังจากเห็นรุ่นพี่ ๆ จากภาคประชาสังคม เดินทางมาทำงานช่วยพัฒนาด้านต่าง ๆ ในประเทศนี้มานาน เรื่องที่ผมกล่าวในคำบรรยายประโยคแรก ๆ คือ ชื่นชมประชาชนติมอร์เลสเต ที่รักษาประชาธิปไตยให้เดินทางมาได้ตลอด 20 ปีหลังเป็นเอกราช ขณะที่ประเทศไทยมีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง