แก้ไขรัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น

เมื่อวานนี้ผมร่วมนำรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น จำนวน 80,772 รายชือ ไปยื่นต่อสภาเพื่อให้ทางสภาบรรจุเข้าวาระในการพิจารณา เป็นเองเข้าชื่อเป็น 1 ใน 20 รายชื่อแรก เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และต้องขอขอบคุณอีก 80,771 รายชื่อที่ร่วมกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ที่ลงชื่อแต่คุณสมบัติไม่ผ่านโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ และที่ขาดไม่ได้คือผู้ที่ช่วยรณรงค์ทั้งทางออนไลน์ และ ออนไซต์


อยากที่พอทราบกัน ที่ว่าปลดล็อกท้องถิ่น ก็คือ การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ปัจจุบัน ไม่ได้เอื้อต่อการกระจายอำนาจ กลับยังเป็นกรอบที่จำกัดการทำงานของท้องถิ่นไว้ ให้อยู่ภายใต้ราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

สิ่งที่ #คณะก้าวหน้า เสนอหลักๆ 3 เรื่องคือ ผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่น และ หน่วยราชการที่อยู่ในพื้นที่ ต้องอยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เรื่องที่สอง คืออำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เดิมเขียนระบุไว้ชัดเจนว่าให้ทำเรื่องอะไรได้บ้าง แต่จะเสนอเปลี่ยนเป็นว่าท้องถิ่นห้ามทำเรื่องอะไรบ้าง เช่น การมีกองทัพ การต่างประเทศ การมีสกุลเงินของตัวเอง เป็นต้น ส่วนเรื่องที่ไม่ได้ห้ามนั้นทำได้หมด โดยเฉพาะเรื่องที่ท้องถิ่นควรทำ คือ การศึกษา สาธารณสุข ขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ภายใต้อำนาจของราชการส่วนกลาง

และสามเรื่องที่สำคัญคือ การปลดล็อกงบประมาณให้ท้องถิ่น แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่างบกว่า 30% กลับไปที่ท้องถิ่น แต่อันที่จริงงบที่กระจายไปนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการแต่งตั้ง และ ยังมีงบประมาณที่เรียกกันว่า "งบฝาก" หรืองบที่มาพร้อมกับภารกิจที่มอบหมายมาจากส่วนกลาง

ที่ผ่านมาจากการทำงานคลุกคลี กับท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกับคณะก้าวหน้า ซึ่งมีกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ พบรูปธรรมของข้อจำกัดทั้ง 3 ข้ออย่างชัดเจน เช่น จะพัฒนาแหล่งนำ้ ทำระบบชลประทาน ในท้องถิ่นก็ติดว่าเจ้าของแหล่งน้ำคือกรมชลประทาน พัฒนาพื้นที่สาธารณะต้องรอขออนุญาตหน่วยงานเจ้าของที่ดิน ทั้งกรมธนารักษ์ หรือ บางที่เห็นเป็นทุ่งนา แต่กลับเป็นที่ของกรมป่าไม้ งบลงทุนหรืองบพัฒนาในท้องถิ่นขนาดเล็กเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น ทำถนนเส้นหนึ่ง หรือ ขยายเขตไฟฟ้าในพื้นที่ ก็ไม่ต้องทำเรื่องอื่นแล้วเพราะงบหมด นายกเทศบาลตำบล นายก อบต. ต้องวิ่งไปหานายอำเภอ ไปหาผู้ว่าฯ เพื่อของบเพิ่ม กลายเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น และระบบอุปถัมภ์ ที่สำคัญคือ โครงสร้างอำนาจแบบนี้ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีจากการเลือกตั้งของประชาชน มีศักดิ์ศรีน้อยกว่าข้าราชการแต่งตั้งจากส่วนกลาง

อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ #ปลดล็อคท้องถิ่น ฉบับนี้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การจะกระจายอำนาจและยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ต้องทำแผนรายละเอียด และต้องมีการให้ประชาชนลงประชามติ ว่าจะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ ซึ่งหมายถึงตำแหน่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงลงประชามติก่อน

ก็หวังว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการพิจารณา ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา (ส.ส., ส.ว. ประชุมด้วยกัน) ทันสภาในชุดนี้ และเพื่อเป็นการปลดล็อคประเทศไทยจากการกักขังศักยภาพที่แท้จริงของท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ