APPU 49th Report

รายงานการประชุม สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก (Asian - Pacific Parliamentarians’ Union) ครั้งที่ ๔๙
และการประชุมคณะมนตรีสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก (Asian - Pacific Parliamentarians’ Union) ครั้งที่ ๘๓
วันที่ ๕ - ๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

ไกลก้อง ไวทยการ




เมื่อวันที่ ๕ - ๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ได้เชิญผมไปในฐานะผู้สังเกตการณ์ การประชุม สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก (Asian - Pacific Parliamentarians’ Union) ครั้งที่ ๔๙ ที่ ไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) การประชุมนี้ เป็นการประชุมเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกรัฐสภาในกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก เป็นรูปแบบของการฑูตผ่านรัฐสภา (Parliamentay Diplomacy) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ได้ตั้งแนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุมว่า "มหาสมุทรแห่งประชาธิปไตย และความยั่งยืน ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" หรือ "Oceans of Democracy and a Sustainable Indo-Pacific"

ก่อนอยากกล่าวถึงความเป็นมาของ สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Parliamentarians’ Union) หรือ APPU ดังนี้

สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Parliamentarians’ Union) หรือ APPU เป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระชับความสัมพันธ์ของรัฐสภาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ส่งเสริมความร่วมมือและ ความเข้าใจระหว่างกัน ประเทศที่ร่วมก่อตั้งประกอบด้วย ญี่ปุ่น ราชอาณาจักรไทย ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ปัจจุบันสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและ แปซิฟิกมีสมาชิก ๒๓ ประเทศ แบ่งเป็นสมาชิกถาวร ๒๑ ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หมู่เกาะคุก สาธารณรัฐฟิจิ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐคิริบาส สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สหพันธรัฐไมโครนีเซีย สาธารณรัฐนาอูรู ปาปัวนิวกีนี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ หมู่เกาะโซโลมอน ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรตองกา ตูวาลู สาธารณรัฐวานูอาตู รัฐเอกราชซามัว สาธารณรัฐปาเลา มองโกเลีย สมาชิกสมทบ ๒ ประเทศ ได้แก่ กวมและเครือจักรภพหมู่เกาะนอร์ธเทิร์นมาเรียนา และผู้สังเกตการณ์ ๑ ประเทศ คือ เวียดนาม กลไกการประชุม ได้แก่ การประชุมสมัชชาใหญ่ ประกอบด้วยผู้แทน จากหน่วยประจาชาติต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ประเทศละไม่เกิน ๑๐ คนเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ ปีละ ๑ ครั้ง และการประชุมคณะมนตรีโดยหน่วยประจำชาติต่างๆ ที่เป็นสมาชิกจะแต่งตั้งผู้แทนประเทศละไม่เกิน ๓ คน เป็นสมาชิกคณะมนตรีเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีปีละ ๑ ครั้งซึ่งจะจัดขึ้นในคราวเดียวกับการประชุม สมัชชาใหญ่*

ในการประชุม APPU ครั้งที่ ๔๙ นี้มีประเทศสมาชิกเข้าร่วม ๑๒ ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐคิริบาส มาเลเซีย สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ มองโกเลีย สาธารณรัฐนาอูรู สาธารณรัฐปาเลา ปาปัวนิวกีนี หมู่เกาะโซโลมอน ราชอาณาจักรไทย ตูวาลู สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ กวม

การประชุมวันแรก (๕ สิงหาคม) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๕.๓๐ น. กล่าวเปิดโดยประธานรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐนาอูรู นายแอสเตอริโอ แอปปิ จากนั้นเป็นการเลือกประธานในที่ประชุมคณะมนตรี APPU ครั้งที่ ๘๓ โดยที่ประชุมได้เลือกนางวานจู ยู สมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐจืน (ไต้หวัน) เป็นประธานในการประชุมคณะมนตรี จากนั้นได้เลือกนายอีอิชิ ซูซูกิ ขึ้นเป็นเลขาธิการของ สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก จากนั้นที่ประชุมได้แจ้งวระการประชุมที่ต้องอนุมัติมติต่างๆ และรับทราบรายงานการเงิน การประชุมจบลงเมื่อเวลา ๑๖.๐๐ น. จากนั้นเป็นงานเลี้ยงรับรองโดยรัฐสภาสมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐจืน (ไต้หวัน) เป็นเจ้าภาพ

การประชุมวันที่สอง (๖ สิงหาคม) เริ่มด้วยนายไซริล บูราแมน ประธานในการประชุม APPU ครั้งที่ ๔๘ ที่นาอูรู และเลือกประธานในที่ประชุม APPU ครั้งที่ ๔๙ โดยที่ประชุมได้เลือกนายเจียฉวน ซู ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธาน จากนั้นประธานคนใหม่ขอให้สมาชิกแนะนำตัว หลังการแนะนำตัว ประธานในที่ประชุมได้กล่าวเปิดการประชุม สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก (Asian - Pacific Parliamentarians’ Union) ครั้งที่ ๔๙ และ ต้อนรับ ดร.ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิปดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่มากล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม




จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างมติที่เสนอในการประชุมครั้งนี้ ดังต่อไปนี้

๑. ขอให้สหภาพสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก สนับสนุนการพัฒนาศูนย์อนาคตศึกษาเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เสนอโดยกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก เมื่อการประชุมครั้งที่ ๓๘
๒. ขอให้สหภาพสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก สนับสนุนและช่วยเหลือทางการเงิน และ วิชาการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแสวงหาทางออก การเพิ่มขึ้นของขยะ วัสดุพลาสติก ทั้งบนบก และในทะเล อันเป็นความเสี่ยงระยะยาวในภูมิภาค เสนอโดยสาธารณรัฐปาเลา
๓. สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสหภาพสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก ในการป้องกันเขตแดนและความมั่นคง ที่จะรับประกันการอนุรักษ์วัฒนธรรมและ สิทธิในการถือครองที่ดินของชนพื้นเมืองเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เสนอโดยสาธารณรัฐปาเลา
๔. ขอแสดงความชื่นชมอย่างยิ่งที่สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่สานต่อความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสาธารณรัฐปาเลา กับ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เสนอโดยสาธารณรัฐปาเลา
๕. มติเพื่อการเปิด และ ความเป็นเสรี ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เสนอโดยประเทศญี่ปุ่น
๖. มติเรื่องขยะพลาสติกในทะเล เสนอโดยประเทศญี่ปุ่น
๗. ชักชวนสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก ร่วมกันป้องกันและ กำจัดเศษวัสดุ และ การจัดการที่มีประสิทธิภาพ กับแหล่งขยะในทะเล และปกป้องทรัพยากรในท้องทะเล เสนอ โดยสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
๘. สนับสนุนแพลทฟอร์ม สำหรับความร่วมมือข้ามพรมแดน ในระบบนิเวศทางทะเล การวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ และความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นำเสนอโดยสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
๙. ชักชวนสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก เพื่อร่วมกันสนับสนุน นวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางทะเล นำเสนอโดยสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
๑๐. ชักชวนสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก ทำงานร่วมกันเพื่อ พัฒนา และสนับสนุน โครงการการลดคาบอนด์ เพื่อความยั่งยืน นำเสนอโดยสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
๑๑. ชักชวนสมาชิกสหภาพรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งทางการร่วมมือทางการค้า โดยการแบ่งบันสารสนเทศ นำเสนอโดยสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

การประชุมในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมประชุมได้นำนำเสนอรายงานสถานการณ์ในแต่ละประเทศ ภายใต้แนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุมว่า "มหาสมุทรแห่งประชาธิปไตย และความยั่งยืน ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" โดยทุกประเทศได้นำเสนอรายงาน ส่วนผมได้นำเสนอให้ที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ประกอบด้วย พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเลือกตั้งทั่วไป ความท้าทายด้านการเมืองและรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของรัฐบาลไทยเรื่องการจัดการกับการประมงผิดกฎหมาย (IUU) การที่ประเทศไทยเข้าร่วมเครือข่ายรณรงค์ "Clean Seas Campaign" ร่วมกับ UNEP และ การแบ่งปันข้อมูลเปิด Open Data ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในการประชุมสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก (Asian - Pacific Parliamentarians’ Union) ครั้งที่ ๕๐ ประเทศญี่ปุ่นได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

การประชุมวันที่สาม (๗ สิงหาคม) เป็นการลงนามข้อตกลงร่วม (The Joint Communique’) ของประเทศสมาชิกซึ่งมีประเทศสมาชิกลงนาม ๑๐ ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐคิริบาส สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ มองโกเลีย สาธารณรัฐนาอูรู สาธารณรัฐปาเลา ปาปัวนิวกีนี หมู่เกาะโซโลมอน ตูวาลู สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ กวม และ เสร็จสิ้นการประชุม


ภาพ: มอบของที่ระลึกจากประเทศไทยให้ ฯพณฯ Su Jia-chyuan ประธานรัฐสภาไต้หวัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน คุณคาเรน ยู สมาชิกรัฐสภาไต้หวัน พร้อมด้วยสมาชิกรัฐสภานิวซีแลนด์ และผม ไปร่วมพูดคุยกันต่อ ถึงแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ Social Innovation Lab ที่เป็นศูนย์บ่มเพาะ (incubation center) ของผู้ประกอบการทางสังคมของไต้หวัน ทั้งนี้รัฐมนตรีดิจิทัลและนวัตกรรมสังคม Audrey Tang ร่วมพูดคุยด้วย จากนั้นไปพบผู้บริหารของ Taiwan Foundation for Democracy เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การเมือง และ ประชาธิปไตยในไทย



ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจ การเข้าร่วมประชุมสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย - แปซิฟิก (Asian - Pacific Parliamentarians’ Union) ครั้งที่ ๔๙ ถือว่าประสบความสำเร็จด้านการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งสมาชิกรัฐสภาที่ได้พบที่ไทเป บางส่วนจะมาร่วมการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน ที่รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพ วันที่ ๒๕ - ๓๐ ที่กรุงเทพมหานคร

*ข้อมูลจาก รายงานการเข้าร่วมประชุมของคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุม คณะมนตรีสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชยี และแปซิฟิก ครั้งที่ ๘๒ และการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย และแปซิฟิก ครั้งที่ ๔๘ (The 82nd Council Meeting and the 48th General Assembly of Asian Pacific Parliamentarians’ Union : APPU) ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ ณ สาธารณรัฐนาอูรู

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.appu-cs.org/