Bali Civil Society and Media Forum 2023



ช่วงพฤจิกายน 66 มีทริปต่างประเทศสั้น ๆ ปลายปี คือ การไปร่วมสัมมนา Bali Civil Society and Media Forum 2023 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย การสัมมนานี้จัดขึ้นทุก 2 ปี
หัวข้อการสัมมนาครั้งนี้คือเรื่อง disinformation หรือปัญหาข่าวปลอม หรือ ข้อมูลที่บิดเบือน โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง เนื่องด้วยปี 2024 เป็นที่แห่งการเลือกตั้งที่สำคัญทั้งในสหรัฐอเมริกาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในทวีปเอเชียเองทั้งการเลือกตั้งที่มีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์คือการเลือกตั้งที่ไต้หวัน และ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซีย ที่ต้องเจอกับปัญหาของข้อมูลบิดเบือน และ การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร-Information Operation (I.O.)
ที่น่าสนใจในมุมมองของผมคือ เจ้าภาพฝ่ายอินโดนีเซีย นอกจากกระทรวงต่างประเทศ และ คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย ยังเป็นเจ้าภาพร่วมด้วย ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลบิดเบือนของ กกต. อินโดนีเซีย ซึ่งต่างจาก กกต. ของประเทศไทยมาก สำหรับตัวแทนประเทศไทยที่ได้นำเสนอในที่แระชุมนี้คือองค์กรภาคประชาสังคม ที่นำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข่าวบนโลกออนไลน์ (fact checking) นั่นคือ CoFact ได้นำเสนอกรณีศึกษาการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนในประเทศไทย ทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องแนวทางการแก้ไขยังไม่มีอะไรใหม่ในช่วง 2-3 ปี เพราะยังเน้นเรื่องการทำงานแบบพหุภาคี ที่จะต้องเข้ามาทำงานในหลายส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน การให้การศึกษาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ สร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ fact checking รวมทั้งการใช้กระบวนการยุติธรรมเข้าจัดการอย่างจริงจัง ซึ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น
ส่วนตัวมองว่าอนาคตของการจัดการปัญหาข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ในอนาคต A.I. จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่อง fact checking ด้วยความสามารถในการเรียนรู้รูปแบบของข่าวบิดเบือน และ การจับผิดข้อมูลข่าวสาร ภาพ วีดีโอ ที่สร้างขึ้นด้วย A.I. ด้วยกัน ซึ่งหน่วยงานที่ทำเรื่องต่อต้านข่าวปลอม หรือ แหล่งทุนที่สนับสนุนด้านนี้ควรให้ทุนในการพัฒนา A.I. ที่สามารถจัดการปัญหาข่าวปลอมได้ในอนาคต