BMA Expo 2023 กับ ดัชนีเมืองน่าอยู่
Published by Klaikong,
เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ก.ค. ได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวงาน BMA Expo 2023 งานมหกรรมผลงานเมืองของกรุงเทพมหานคร ในการบริหารของผู้ว่าฯ ชัชชาติ งานนี้จัดตามธีมนโยบาย 9 ดี คือ 1. ปลอดภัยดี 2. เดินทางดี 3. สุขภาพดี 4. สร้างสรรค์ดี 5. สิ่งแวดล้อมดี 6. โครงสร้างดี 7. บริหารจัดการดี 8. เรียนดี และ 9. เศรษฐกิจดี
ซึ่งนโยบาย 9 ดีนี้ ก็คือเป็นตัวชี้วัดระดับสากล หรือ The Global Liveability Index ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ที่เพิ่งออกรายงานของปี 2023 มาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเมืองที่น่าอยู่ที่สุดที่ได้รับการจัดอันดับโดย EIU ปีนี้คือกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ส่วนเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในทวีปเอเชียของปีนี้คือ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ส่วนน่าอยู่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ สิงค์โปร์ ซึ่งครองอันดับนี้มายาวนานในอาเซียน
ส่วนประเทศไทยติดอันดับเมืองน่าอยู่ 2 เมืองได้แก่ กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ (น่าจะเฉพาะเขตเทศบาลนคร) โดยกรุงเทพมหานคร น่าอยู่เป็นอันดับ 3 รองจากสิงค์โปร์ และ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
แน่นอนผมฝันว่าวันหนึ่ง กรุงเทพมหานคร จะได้ติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองน่าอยู่ของโลกบ้าง และ ก็เชื่อว่าทีมผู้บริหารกรุงเทพมหานครปัจจุบันก็ตั้งความหวังเช่นนั้น จึงออกนโยบาย 9 นี้มา ซึ่งงาน BMA Expo นี้ก็สะท้อนวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างน้อยก็น่าจะเห็นภาพในเวลาอีก 3 ปี ของการบริหารของทีมบริหารชุดนี้ ซึ่งมีหลายเรื่องเริ่มต้นได้ดีแล้ว เช่น การใช้เทคโนโลยีการรับเรื่องร้องเรียนฟองดูย์ การปรับปรุงระบบการระบายน้ำที่จะเอา IoT มาช่วยมากขึ้น การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ระบบความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง เอา AI มาช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย และ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ เช่น การคมนาคมขนส่งที่ทั่วถึง เข้าถึงง่าย และ ราคาถูก เป็นเมืองของทุกคนที่มีความสะดวกต่อคนพิการ และ ผู้สูงอายุ ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กที่ดีที่แบ่งเบาภาระพ่อ แม่ ที่มีลูกวัย 0 - 3 ปี การพัฒนาชุมชนเมือง และ พัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองราคาถูก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ที่บางครั้งอำนาจท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร ดังเช่นปัจจุบัน ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่ต้องอาศัยรัฐบาลกลาง การกระจายอำนาจ และ การปรับโครงสร้างการบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีลักษณะเป็นหน่วยบริหารพื้นที่ขนาดใหญ่พิเศษหน่วยเดียว และ มีเขตที่มีประชากรหนาแน่นเทียบระดับเทศบาลนคร อีก 50 เขต ซึ่งบริหารโดยผู้อำนวยการเขต ที่แต่งตั้งจากผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งหากเราสามารถทำให้มีหน่วยบริหารที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งมีการบริหารพื้นที่ย่อยลงไป เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วขึ้น รับการเติบโตในอนาคต พร้อม ๆ กับการพัฒนาเมืองปริมณฑล ที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งทุกระดับ ผมเชื่อว่าหากปรับโครงสร้าง มีผู้บริหารที่มาจากประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำนโยบาย และ ช่วยกันติดตามตรวจสอบนโยบาย รวมทั้งสภาท้องถิ่นทำงานอย่างเต็มที่ เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ลำดับเมืองน่าอยู่ของเราจะดีขึ้นอย่างแน่นอน