CALD in Taipei


ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 - 10 ก.ย.) ผมมีโอกาสได้มาร่วมประชุมเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งสภาพรรคการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยแห่งเอเชีย หรือ CALD ที่ไทเป โดยการประชุมในครั้งนี้มีทั้งวาระการสรุปการทำงานตลอด 30 ปี ของภาคีของ CALD แต่ที่พูดกันมากคือสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในเอเชีย ที่มีดัชนีชี้วัดที่ต่ำลงในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีทั้งเหตุการณ์ และ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการที่รัสเซียรุกรานยูเครน รัฐประหารในพม่า และ นโยบายชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้มีการใช้นโยบายรูปแบบอำนาจนิยมมากขึ้นในภูมิภาค หรือ กระทั่งการสร้างแนวคิดที่ว่าประชาธิปไตยแบบสากลไม่เวิร์คในภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และ ไต้หวัน ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตย สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ และ การพัฒนาท้องถิ่น โดยเคารพเรื่องหลักเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำได้ เป็นกรณีศึกษาที่ดีกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

ผมเองมีโอกาสไปร่วมอภิปรายในเรื่องวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างเครือข่ายที่เป็นประชาธิปไตย โดยการยกตัวอย่างกลุ่ม ก้าวgeek ที่ทำกิจกรรมเรื่อง Civic Tech หรือ เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนกับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านความโปร่งใส นโยบาย หรือการพัฒนาการให้บริการใหม่ ๆ เชื่อระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ของ ก้าวgeek ทั้ง Open Data ด้านงบประมาณที่เข้าสภา การจัด hackathon และ meet up ต่างๆ ทำให้เกิดเครือข่าย มีเครื่องมือสื่อสารออนไลน์ใน Discore ที่มีสมาชิกกว่า 200,000 คนแลกเปลี่ยนแนวคิด ความเห็น และ แบ่งปันความรู้กัน โดยให้คุณค่าต่อประชาธิปไตย และ การมีส่วนร่วม ซึ่งกรณีศึกษาในหลาย ๆ ประเทศก็เน้นการทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่มาก

ทั้งนี้ข้อสรุปของการประชุมคือองค์กรไม่ว่าพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน หน่วยงานระดับภูมิภาค ในภูมิภาคเอเชียจะตั้งทำงานให้หนักและขยายเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้นที่จะทำให้ประชาธิปไตยที่มีประชาชนอยู่ในสมการ ยืนหยัดสู้กับแนวคิดอำนาจนิยมที่ยังแผ่ขยายในภูมิภาคในขณะนี้