ซิงเกิ้ลเกตเวย์ เชิงนโยบายดิจิทัล เกิดขึ้นแล้ว
Published by Klaikong,
ไกลก้อง ไวทยการ
เมื่อวานนี้ (27พ.ค 62) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ และ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผมเลยย้อนไปอ่านบทความของเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เรื่อง "โครงสร้างใหม่ (?) หน่วยงานไอซีทีแห่งชาติ" เป็นบทความตั้งแต่ปี 2015 แต่วันนี้ปี 2019 โครงสร้างนี้ก็เกิดขึ้นสมบูรณ์ https://thainetizen.org/2015/01/new-thailand-digital-economy-organizations-structure-2015/
จะเห็นได้ว่าบนสุด มีหน่วยงานใหญ่กำกับดูแลเรื่องดิจิทัลของประเทศ คือ
1. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2. คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
3. คณะกรรมการ กสทช.
แต่ถ้าไปดูในรายละเอียด หน่วยงานที่ดูเหมือนจะมีอำนาจมากที่สุด จะเป็น คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะคอยออกนโยบาย และ กำกับให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินตามนโยบายที่วางไว้ จริง ๆ ก็คือ ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั่นเอง และแม้แต่ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ยังต้องฟัง คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นแนวทางการกำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมทั้งต้องแบ่งเงินกองทุนฯ มาตั้งกองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ใต้กำกับของคณะกรรมการชื่อเดียวกัน
มีหน่วยงานใหม่ ๆ พร้อมกับอำนาจกำกับดูแลเพิ่มขึ้นอีก อาทิ สนง.คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
แผนผังนี้มาจากเว็บไซต์ thainetizen.org เมือปี 2015
หน่วยงานที่ไม่ปรากฎในผังนี้คือ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแปลงจาก สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล
ซึ่งดูแล้วออกมาในแนวรวมศูนย์อำนาจทางดิจิทัลกลับมาที่รัฐบาล และ สภาดิจิทัลฯ ก็ดูเป็นตัวแทนของทุนโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันก็มีเจ้าใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่เจ้า
โครงสร้างนี้ก็สะท้อนผลงานปฏิรูปของรัฐบาล คสช. ที่ต้องการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง เพิ่มอำนาจกำกับดูแล และ สอดส่องประชาชนทางช่องทางดิจิทัล เป็๋นการสร้างซิงเกิ้ลเกตเวย์ เชิงนโยบาย เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันในอนาคตว่า เราจะปรับปรุงโครงสร้างนี้อย่างไร อย่างน้อยเพื่อลดสภาพคณะกรรมการและหน่วยงานที่ซับซ้อน และ รวมศูนย์นี้
หมายเหตุ: เนื่องจากผังทำขึ้นเมื่อปี 2015 ปัจจุบัน พรบ. ที่ประกาศในราชกิจจาฯ เช่น คณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ฯ และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้อยู่ภายใต้การทำงานของสำนักงานเดียวกัน ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ได้รายงานหรือขึ้นกับคณะกรรมการส่งเสริมฯ แต่รายงานต่อคณะกรรมการกำกับสำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม