เยือน (ท้อง) ถิ่นอิสานกับ ธนาธร
Published by Klaikong,
สุดสัปดาห์แรกของเดือนตุลาระหว่างวันที่ 2-4 ผมได้ร่วมทริปไปกับคุณธนาธร ลงพื้นที่ที่คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัคร ลงชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในพื้นที่อิสานเหนือ เริ่มที่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และ ปิดท้ายที่อุบลราชธานี
ที่สกลนคร ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. คือคุณณรงเดช อุฬางกูล คุณณรงเดช มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ริมหนองหาร เป็นพื้นที่สาธารณะ และแหล่งการเรียนรู้ธรรมชาติทะเลสาปน้ำจืด ซึ่งหนองหารเป็นทะเลสาปน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอับดับ 2 ของไทยรองจากบึงบอระเพ็ด การลงพื้นที่ผมและคุณธนาธร ไปพื้นที่หนองหารที อบจ. มีทรัพย์สินที่ต้องดูแลคือพิพิธภัณฑ์ภูพาน และ ท้องฟ้าจำลอง รวมทั้งสวนสาธาณะ ซึ่งสามารถปรับปรุงให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และ เปิดพื้นที่ท่องเที่ยว และ นันทนาการเพื่อการเรียนรู้ริมหนองหารได้
นอกจากหนองหารแล้ว ยังได้ไปดูโรงเรียนสกลทวาปีในสังกัด อบจ. สกลนคร ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนจาก อบจ. สกลนคร ในเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งอาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียน และ ทุนการศึกษา
จากนั้นไปนครพนม ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. คือคุณณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ ทีมนครพนม เป็นทีมงานที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานกับคณะก้าวหน้า ยังต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมสำหรับชาวนครพนม ที่นครพนมเป็นช่วงประเพณีไหลเรือไฟ เลยได้โอกาสเดินชมความงามริมฝั่งโขงของนครพนมซึ่ง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวนครพนม
รุ่งเช้าวันเสาร์ เริ่มต้นลงพื้นที่ที่มุกดาหาร ที่แรกคือหอแก้ว แลนด์มาร์คสำคัญของเมืองมุกดาหาร ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2539 คุณสุพจน์ สุอริยพงษ์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. มุกดาหาร มีแนวคิดที่จะปรับปรุงให้ผู้เข้าชมหอแก้วสามารถเห็นวิวเมืองมุกดาหาร และ ฝั่งสะหวันนะเขต ได้กว้างไกลกว่าเดิม และปรับปรุงพิพิทธภัณฑ์ในหอแก้วโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการนำเสนอเรื่องราวของจังหวัดมุกดาหารได้หน้าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น
อีกปัญหาที่จำเป็นต้องรีบแก้ไขคือ การจัดการขยะของจังหวัดมุกดาหาร ที่ขยะกว่าวันละ 70 ตันจากอำเภอต่าง ๆ มากองรวมกันที่บ่อขยะพื้นที่ 45 ไร่ของเทศบาลเมืองมุกดาหาร แม้บ่อขยะจะเป็นของเทศบาล แต่ อบจ.สามารถมีบทบาทส่งเสริมให้ระดับเทศบาลในมุกดาหาร จัดการปัญหา เช่น ส่งเสริมการแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทาง
ส่วนย่านเศรษฐกิจสำคัญของมุกดาหาร คือ ตลาดอินโดจีนริมโขง ก็มีสภาพเงียบเหงาแม้เป็นช่วงสุดสัปดาห์วันออกพรรษา ทั้งนี้ตัวตลาดปิดเพื่อปรับปรุงมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีว่างานจะเสร็จเมื่อไหร่ และ ไม่มีป้ายบอกว่าใครเป็นผู้รับจ้างงานซ่อมแซม ทำให้ผู้ค้า ต้องไปทำเพิงขายของชั่วคราวริมถนน บดบังทิวทัศน์ริมโขง ประกอบกับช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องปิดด่าน จึงไม่มีชาวลาวข้ามฝั่งมาท่องเที่ยวซื้อสินค้า ทางออกคือใช้โอกาสที่ตลาดคนยังน้อยปรับปรุงพื้นที่ ให้พร้อมสร้างความตื่นตาตื่นใจ เมื่อการท่องเที่ยวระหว่าง ไทย-ลาว-เวียดนาม ฝั่งมุกดาหาร เปิดอีกครั้ง เรื่องนี้ควรจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เป็นประชาคมในตลาดอินโดจีนมาออกแบบพื้นที่ใหม่ร่วมกัน
ปิดท้ายวันอาทิตย์ที่ 4 ที่อดอำเภอเขมราฐ ริมโขงจังหวัดอุบลราชธานี คุณเชษฐา ไชยสัตย์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ได้นำชมพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนของอำเภอเขมราฐ ก่อนมุ่งหน้าไปอุทยาธรณีสามพันโบก ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่อุทยานธรณีวิทยาโลกจากยูเนสโก เช่นเดียวกับสตูล ซึ่งเกณฑ์การประเมินของยูเนสโก เพื่อให้เป็นอุทยานธรณีวิทยาโลก มี 4 เรื่องสำคัญคือ 1.ชุมชนโดยรอบอุทยานต้องเห็นด้วย 2. มีองค์ความรู้และงานวิจัยในพื้นที่ในระดับนานาชาติ 3. มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเผยแพร่ความรู้ และ 4. ต้องมีการคมนาคมที่สะดวก ซึ่งข้อ 4 เรื่องการคมนาคมนี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา เพราะปัจจุบัน การขนส่งสาธารณะมายังสามพันโบกยังต้องใช้รถส่วนตัว หรือ ต้องเช่ารถมาจากสนามบิน การเดินทางโดยขนส่งสาธารณะจากในตัวเมืองอุบลฯ มาต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง ซึ่งไม่สะดวกกับนัดท่องเที่ยว จึงต้องคิดเส้นทางที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวริมโขงของจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนั้นทรัพย์สินของ อบจ. อุบลราชธานี ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP ที่ตั้งอยู่กลางเมือง สามารถปรับปรุงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในเมืองของนักเรียน นักศึกษาโดยรอบ และ สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในเมืองอุบลราชธานีได้
คณะก้าวหน้า ต้องการเห็นท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนแปลง หลายพื้นที่ภายใต้การบริหารของท้องถิ่นชุดเดิม ที่บริหารมากว่า 10 ปีแทบจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นใดๆ เราจึงทำงานร่วมกับผู้สมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ให้แต่ละพื้นที่มีนโยบายที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ ซึ่งเดือนตุลาคมนี้ผมยังต้องไปอีกหลายจังหวัด เพื่อร่วมกับทีมงานในพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจปัญหา ความต้องการ และ สถานการณ์ในพื้นที่ และเสนอทางแก้ปัญหาเป็นนโยบายท้องถิ่นเป็นขอเสนอให้ประชาชนในแต่พื้นที่ต่อไป
ไกลก้อง ไวทยการ
คณะก้าวหน้า