FWP Taiwan Ai Trip
Published by Klaikong,
สัปดาห์นี้ช่วงวันที่ 25 - 28 กันยายน ผมและเพื่อน ส.ส. #พรรคอนาคตใหม่ ทั้งคุณเอิร์ท ปกรณ์วุฒิ คุณเท้ง ณัฐพงษ์ คุณเป้ สมเกียรติ คุณเติ้ล วรภพ และคุณไพบูลย์ ว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ. นนทบุรีของพรรคอนาคตใหม่ เดินทางมาที่กรุงไทเป ไต้หวัน เนื่องจากพวกเราสนใจเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และช่วงนี้ที่ไทเป มีงาน Expo ทั้งเรื่องเทคโนโลยีการจัดการน้ำ และ Taiwan Inno Tech หรือการแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมของไต้หวัน เลยเป็นโอกาส
พวกเราจึงชักชวน และ ตัดสินใจ ลงขันออกค่าใช้จ่ายกันเอง เดินทางมาดูงาน โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมไทเป ช่วยประสานงานให้เราได้พบปะบุคคลต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภสคประชาสังคมในไทเป โดยเนื้อหาการดูงานครอบคลุมทั้งเรื่อง digital transformation เทคโนโลยีการจัดการภัยพิบัติ เทคโนโลยี IoT ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ Smart City และ Open Data
โดยในวันแรก ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ก็ได้ไปพบเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของไต้หวัน นำโดยคุณคาเรน ยู และได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องนโยบาย เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของไต้หวัน และ ไทย ร่วมทั้งประสบการณ์ในการผลักดันกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการผลักดัน
วันที่สอง เนื้อหาเริ่มเข้นข้น เริ่มจากร่วงงานเปิดนิทรรศการเทคโนโลยีในการจัดการน้ำ และ Taiwan Inno Tech ซึ่งมีบูทนิทรรศการเรื่องเทคโนโลยีการป้องกันอุทกภัย ทั้งระบบคาดการณ์นำ้ท่วมอัจฉริยะ การใช้เทคโนโลยี IoT ในการควบคุมระดับน้ำ และ ประตูระบายน้ำต่าง ๆ การออกแบบระบบซับน้ำ เก็บน้ำไว้ใต้ดินเพื่อชลอน้ำและ นำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ ร่วมถึงนวัตกรรมด้านดิจิทัล A.I. และหุ่นยนต์ ที่มาจัดแสดงในส่วน Inno Tech ช่วงบ่ายมีโอกาสพบผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี และ นวัตกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้จุดแข็งทางด้านการผลิตอุปกรณ์ IoT ของไต้หวัน มาพัฒนา sensor แบบต่าง ๆ และสร้างธุรกิจจากนวัตกรรมที่สร้างขึ้น และต่างก็ยืนยันว่า Open Data เป็นปัจจัย ที่ทำให้ธุรกิจด้านนี้เกิดขึ้นมาได้
วันรุ่งขึ้น เราได้ไปคุยกับ บริษัท CHT Security บริษัทลูกของ ชงหัว เทเลคอม ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของไต้หวัน ซึ่งทำให้เรารู้ว่า หน้าที่ของภาคเอกชน ที่ให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ต้องมาทั้งผู้เชี่ยวชาญ และ เทคโนโลยี ที่เน้นในการป้องกันโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศที่สำคัญ อาทิ ระบบสาธรณูปโภค โรงพยาบาล หรือ ระบบการเงิน นอกจากนั้นการสื่อสารในองค์กร ก็ต้องการระบบที่ปลอดภัย เช่น ปกติเราโทรหากันผ่านแอพ chat ที่เป็นที่นิยม แฮกเกอร์อาจจะดัก ข้อมูลเสียงได้ แต่ หากมีเทคโนโลยีเข้ารหัสที่สมบูรณ์หรือ end - to - end encryption แฮกเกอร์ก็ไม่สามารถได้ข้อมูลไปใช้งานได้ ทาง CHT Security ยังเปิด Cyber Security Control Center ให้เราดูด้วย
ต่อจากนั้นได้ไปดูงานที่ Taiwan A.I. School ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของภาคเอกชนไต้หวันโดยไม่พึ่งงบประมาณของภาครัฐ พัฒนาบุคคลากรด้าน A.I. เพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ของใต้หวันในอนาคต โดยที่ผ่านมา A.I. School แห่งนี้ผลิตบุคคลากร และ โครงการจากนักศึกษากว่า 5 พันคน จากนั้นเราไปดูไปดูระบบการควบคุมการจราจร และ การออกแบบระบบขนส่งมวลชนเพื่อทุกคนในเมืองของไทเปโดยเฉพาะรถเมล์ที่ทั้งระบบออกแบบให้เด็ก คนพิการ และ คนชรา สะดวกตั้งแต่รอรถเมล์ จนถึงที่หมาย และ ยังได้ดูทั้งศูนย์ควบคุมการจราจร และ ศูนย์ควบคุมรถไฟฟ้า MRT ของไทเป
วันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในไทเปของพวกเรา ได้ไปที่ Academia Sinica ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของไต้หวัน ได้พูดคุยกับกลุ่ม maker ที่ทำโครงการ Airbox หรือ sensor วัดคุณภาพอากาศ และ ฝุ่น p.m. 25 ซึ่งขณะนี้มี sensor จากเหล่า maker จำนวนหลักพันทั่วไต้หวัน และ ทุกคนเปิดเป็น Opendata เพื่อเอาข้อมูลมาแจ้งเตือนประชาชน วิจัยหาทางแก้ปัญหา และยังใช้sensor ฝุ่นเป็นสื่อการเรียน การสอน ซึ่งข้อมูลสามารถนำมาทำ visualisation เพื่อวิเคราะห์ และใช้ A.I. ในการคาดการณ์สภาพมลพิษได้ และเรายังได้ตัวอย่าง sensor มาทดลองใช้กันด้วยซึ่งจะได้มอบให้ทีมเพื่อน ส.ส. ที่ทำโครงการนำร่องเรื่องนี้ไปใช้ต่อ ทั้งหมดนี้เป็นการสรุป เนื้อหาที่ได้จากทริปนี้เยอะมาก ไว้ผมจะเขียนเจาะประเด็นลงรายละเอียด แต่ละเรื่องอีกครั้งครับ