Contact Tracing คืออะไร และ กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลอย่างไร

ไกลก้อง ไวทยการ
คณะก้าวหน้า
บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซต์คณะก้าวหน้า : https://progressivemovement.in.th/

ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์โควิด19 เราก็ได้เห็นมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐดำเนินการเพื่อยับยั่งการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ยังไม่มีวัคซีน และ ยารักษา ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ใช้คือการปิดเมือง (Lockdown) และ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distantcing) โดยในรายละเอียดของมาตรการมีแนวทางปฏิบัติที่ต่างกันไป ทั้งแนวการใช้อำนาจรัฐแบบเผด็จการบังคับประชาชน และ แนวที่เสนอมาตรการโดยฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับประชาชน และ รัฐสภา โดยมีประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศเป็นทัพหน้าที่สำคัญ ต่อสู้กับภาวะโรคระบาด COVID-19

ที่ต้องจับตามองคือมาตรการต่าง ๆ มาพร้อมกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือคนในช่วงที่ต้องปิดเมือง และ เว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยเหลือบุคคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่กำลังเป็นที่พูดถึงในขณะนี้คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Contact Tracing หรือเทคโนโลยีที่ใช้บันทึกสุขภาพของผู้ที่เราพบปะ และช่วยเตือนว่าเรามีโอกาสติดเชื้อโควิด19 หรือไม่

Contact Tracing เป็นวิธีการที่นำเสนอโดยทีม Gov Tech ของสิงคโปร์ โดยใช้เทคโนโลยีบลูธูทในสมาร์ทโฟน รับ และ ส่งข้อมูล ระหว่างสมาร์ทโพนของเรา และ สมาร์ทโพน ของผู้อื่นที่อยู่ระยะสัญญาณบลูธูท โดยข้อมูลจะไม่สามารถระบุว่าใครเป็นใคร แต่จะเก็บข้อมูลรหัสแทนบุคคลที่เข้าใกล้เราไว้ในเครื่องเป็นเวลา 14 วัน และ หากระบบได้ข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อว่า คนที่เคยเข้าใกล้เราในช่วง 14 วันติดเชื้อโควิด19 ระบบก็จะเตือนเราว่ามีความเสี่ยง ซึ่งโดยหลักการแล้วระบบจะรักษาข้อมูลเก็บไว้ในเครื่องสมาร์ทโฟนของเรา และไม่ให้สามารถระบุตัวตนได้ว่าผู้ใช้เป็นใคร พบปะกับใคร ที่ไหน หรือใครเป็นผู้ติดเชื้อ และ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวสำคัญของ 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีนั่นคือ Apple และ Google ประกาศว่าจะเปิด API บนระบบปฏิบัติการของตนเองทั้ง iOS และ Android เพื่อรองรับเทคโนโลยี Contact Tracing

ภาพ: หลักการทำงานของระบบ Contact Tracing

ขณะที่หลายประเทศมีแผนที่จะพัฒนาแอพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี Contact Tracing และให้ประชาชนได้ติดตั้งเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด19 ทั้งเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยที่เปิดตัวแอพลิเคชัน "หมอชนะ" โดยกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี Contact Tracing มีข้อถกเถียงอย่างมากถึงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เพราะแอพลิเคชันที่พัฒนาใช้ในบางประเทศนั้นไม่ได้ทำตามหลักการที่ต้องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลไว้สูงสุด เช่น มีการเก็บข้อมูลการพบปะกันไว้บนเครื่องแม่ข่าย หรือ มีการใช้ GPS ระบบตำแหน่งการใช้แอพลิเคชัน รวมทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด

เรื่องที่จะต้องทำควบคู่กับการ Tracing คือการ Testing หรือต้องขยายการตรวจการติดเชื้อโควิด19 ไปพร้อมกันด้วย เพราะต้องมีข้อมูลผู้ติดเชื้อที่อัปเดตตลอดเวลา หากฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อไม่อัปเดตว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม หรือ ลด หรือคนที่เคยติดเชื้อตอนนี้ปลอดเชื้อ แต่ยังมีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อ การใช้ระบบ Contact Tracing ก็จะไม่มีประสิทธิภาพ

แอพลิเคชัน "หมอชนะ" ที่เปิดตัวโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากบทความการให้สัมภาษณ์ของทีมผู้พัฒนา* ก็อธิบายถึงการทำงานว่าแอพลิเคชันอัปโหลดข้อมูลการพบปะ และ ตำแหน่ง GPS ของผู้ใช้ไว้บนเครื่องแม่ข่าย ถึงแม้ข้อมูลจะเป็นรหัสที่ไม่สามารถระบบตัวตนผู้ใช้ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่ามีกระบวนการสืบข้อมูลย้อนกลับที่จะสามารถระบุเครื่องสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ได้ อีกทั้งกระบวนการดูแลข้อมูลของผู้ใช้แอพลิเคชันก็ยังไม่ชัดเจน และะหน่วยงานที่จะเข้ามาทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่มีความพร้อม

ที่สำคัญคือมีแนวคิดที่จะใช้แอพลิเคชัน "หมอชนะ" มาเสริมในช่วงการคลายมาตรการ Lockdown โดยให้ผู้ใช้ติดตั้งแอพลิเคชัน และ ทำแบบประเมินสุขภาพ เพื่อให้ได้ QR Code ยืนยันก่อนเข้าใช้บริการร้านค้า ร้านอาหาร หรือ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งอาจจะนำพาไปสู่แนวคิดแบบ Social Credit ที่มีเฉพาะบางกลุ่มได้สิทธิพิเศษ และ มีคนอีกกลุ่มโดนจำกัดสิทธิ์ กระทบต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี หรือ กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

บทเรียนจากการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยให้ใช้ช่องทางเดียวผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" ถึงแม้เป็นแนวคิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้การคัดกรองผู้มีคุณสมบัติทำได้รวดเร็ว แต่ก็ทิ้งคนกลุ่มใหญ่ที่สมควรได้รับการเยียวยาไว้ข้างหลัง สร้างความเจ็บช้ำให้ประชาชน จนต้องมาเรียกร้องแบบเอาชีวิตเข้าแลก เหมือนดังเหตุการณ์ที่กระทรวงการคลัง สะท้อนถึงการคิดไม่รอบด้าน และ ความไม่ใส่ใจในสภาพความจริงที่คนในสังคมยังมีกลุ่มที่เดือนร้อนสาหัส และ เทคโนโลยีอาจเป็นสิ่งซ้ำเดิมพวกเขา หากมีวิธีปฏิบัติที่ไม่ใส่หัวใจความเป็นมนุษย์เข้าไป

อ้างอิง : *สัมภาษณ์ทีมพัฒนาแอป "หมอชนะ" บันทึกการเดินทาง วิเคราะห์ความเสี่ยง COVID-19 ให้โดยอัตโนมัติ https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=983