กรรมาธิการ กสทช. หลัง COVID-19



เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 ผมได้เข้าประชุมกรรมาธิการพิจารณา ร่างกฎหมาย #กสทช. ได้กลับมาประชุม หลังจากหยุดยาว จากสถานการณ์ โควิด-19 ไปเกือบ 2 เดือน

เนื้อหาหลักของการประชุมวันนี้ คือการพิจารณามาตรา 3 ที่ไปแก้ไขเรื่อง สัดส่วนความเชี่ยวชาญของกรรมการ กสทช. ซึ่งที่ประชุมกรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับการมีกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นหลักการที่สำคัญ ที่ประชาชนผู้ใช้สื่อฯ จะได้รับการคุ้มครอง ทั้งในมุมมองของผู้บริโภคสื่อ และ เสรีภาพในการสื่อสาร

ประธานกรรมาธิการ (รมว.ดิจิทัล) ยังได้นำแนวคิดที่รัฐบาล จะดำเนินการสรรหา #กสทช ชุดใหม่ โดยใช้กฎหมาย กสทช. ที่มีอยู่ โดยมีเหตุผลว่า กสทช. ชุดปัจจุบันทำหน้าที่มา 9 ปีกว่า และ ยังมีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการใช้งานคลื่น 5G ซึ่งส่วนตัวผมมีความเห็นดังนี้

- กสทช. ชุดปัจจุบัน อยู่ได้ด้วยคำสั่งมาตรา 44 แทบไม่มีทบบาท กับสถานการณ์ด้านสื่อโดยเฉพาะสื่อดิจิทัล การทำงานด้านกำกับดูแล และ พัฒนาอุตสาหกรรม สื่อ และ โทรคมนาคม เรียกว่าไม่มีประสิทธิภาพ
- เมื่อกรรมการ กสทช. ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ บทบาทเป็นของ กระทรวงดิจิทัลฯ และ ตัวเลขาฯ กสทช. มีบทบาทขึ้นมาแทน ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น ควรเป็นหน้าที่ในรูปแบบคณะกรรมการ ทำหน้าที่กำกับดูแล
- ยังมีเรื่องกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อเอื้อต่อการหลอมรวมสื่อ และ การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่รอกรรมการ กสทช. ชุดใหม่มาดำเนินงาน
- ถึงแม้กำลังร่างกฎหมายใหม่ แต่กระบวนการตรากฎหมาย ใช้เวลานาน และ อาจจะออกมาหลังได้กรรมการ กสทช. ใหม่ได้ไม่นาน จึงต้องมีบทเฉพาะการ ในกฏหมายใหม่บังคับให้ กสทช. ที่สรรหาตามกฎหมายเก่าสิ้นสภาพทันที และ สรรหาใหม่

ซึ่งในที่สุดแล้ว การสรรหา กรรมการ กสทช. หากดูตามมาตรา 44 คณะรัฐมนตรี สามารถมีมติให้เริ่มกระบวนการสรรหาได้ อีกมุมหนึ่ง เมื่อสรรหา กสทช. ชุดใหม่ได้เร็วก็ทำให้ ผลการบังคับใช้ ม.44 เรื่องต่ออายุ กสทช. ชุดปัจจุบันสิ้นสุดลงด้วย

ไกลก้อง ไวทยการ
กรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. กสทช.