นโยบายท้องถิ่น สกลนคร-หนองบัวลำภู-หนองคาย-บึงกาฬ



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 - 24 ส.ค.) ลงพื้นที่ยิงยาวอีสานเหนือ 4 จังหวัด สกลนคร-หนองบัวลำภู-หนองคาย-บึงกาฬ พบว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ. ของ #คณะก้าวหน้า เพื่อที่จะพัฒนานโยบายท้องถิ่นร่วมกัน

สกลนคร โดดเด่นด้วยแผนพัฒนาเมือง และ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อดึงคนรุ่นใหม่มาสร้างเศรษฐกิจของสกลนคร



หนองบัวลำภู จังหวัดเล็ก ๆ ที่แยกออกมาจากอุดรธานี แต่มีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก สิ่งที่ต้องเริ่งทำคือ การเชื่อมต่อกับสถานีคมนาคมหลักคือ อุดรธานี เช่น ร่วมมือกับภาคการท่องเที่ยว มีรถให้บริการจากสนามบิน หรือ สถานีรถไฟ อุดรธานี มาหนองบัวลำภู นอกจากเรื่องระบบขนส่งแล้ว คงต้องปรับปรุงถนนหนทางในตัวจังหวัด โดยเฉพาะเส้นทางที่เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อความส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น



หนองบัวฯ ยังเป็นพื้นที่ ที่ได้รับการส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องการขยายการทำเกษตรอินทรีย์ทดแทนเกษตรเคมีอีกมาก เพราะมีปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เคมีทางการเกษตรที่กระทบกับแหล่งน้ำ อีกปัญหาที่พบคือ การทำเหมืองหิน โรงโม่ที่เป็นปัญหาเรื้อรังกับชุมชน



หนองคาย จังหวัดที่คุมประตูหลัก ไปเมืองหลวงของประเทศลาว แต่ยังดูได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจการค้าชายแดนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น การพัฒนายาานการค้าใหม่ ๆ ที่มีความต่างกับจังหวัดคู่แข่งเป็นเรื่องที่น่าออกแบบเป็นนโยบาย



อบจ. หนองคาย มีพื้นที่ ๆ น่าพัฒนาต่อยอด เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของหนองคาย ทั้งสนามกีฬาประจำจังหวัด และ ศูนย์แสดงสินค้าชุมชน ที่ดูเหมือนยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ การพลิกวิธีบริหารจัดการ น่าจะทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นประโยชน์กับคนหนองคายเพิ่มขึ้นมาก



บึงกาฬ จังหวัดสุดท้ายของทริปนี้ แต่ไม่ได้อยู่ท้ายสุดด้านนโยบาย ที่นี่เป็นศูนย์กลางของการปลูกยางพาราของภาคอิสาน การพัฒนาเศรษฐกิจจากยางพาราที่ควรทำให้ครบวงจร จะช่วยให้เกิดทั้งความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในชุมชน และ การจ้างงาน รวมทั้งดึงการลงทุนด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเข้ามาในบึงกาฬ

ครั้งนี้ขอพูดกว้างๆ รวมๆ เพราะรายละเอียดเชิงลึก และนโยบายที่เป็นรูปธรรม จะพัฒนาและเผยแพร่อย่างเป็นทางการบนช่องทางสื่อสารของคณะก้าวหน้า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือ...ช่วงเวลาที่ผ่านมา 10 ปี พื้นที่ทั้ง 4 จังหวัดนี้ควรจะถูกพัฒนามากกว่านี้ ช่วงเวลาแห่งรัฐประหาร ทำให้การกระจายอำนาจสะดุดลง ไม่มีตัวแทนประชาชนในสภา ส่วนท้องถิ่นก็อยู่ด้วยอำนาจ ม.44 จึงขึ้นอยู่กับว่าจังหวัดนั้นๆ มีสายสัมพันธ์ที่ดี หรือ กระตือรือล้น ที่จะเข้าหาผู้มีอำนาจในกรุงเทพแค่ไหนเพื่อของบฯลงพื้นที่ตัวเอง อย่างไรก็ตามหากท้องถิ่นมีอำนาจ และ ทรัพยากรในการพัฒนาบ้านตัวเอง เราคงได้เห็นเศรษฐกิจที่ดี โครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ไกลก้อง ไวทยการ
คณะก้าวหน้า