นโยบายท้องถิ่น อุบล-มุกดาหาร-ร้อยเอ็ด

สัปดาห์นี (30 ส.ค. - 1 ก.ย.) ทีมนโยบายท้องถิ่น #คณะก้าวหน้า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมผู้สมัคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 3 จังหวัดในภาคอีสานตอนใต้ คือ อุบลราชธานี มุกดาหาร และ ร้อยเอ็ด



เริ่มกันที่ อุบลราชธานี ว่าที่ผู้สมัครคือ คุณเชษฐา ไชยสัตย์ อุบลราชธานีโดดเด่นด้วยแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง ซึ่งมีกว่า 40 แห่ง ภาพใหญ่คือ กำลังดำเนินการขอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก ในพื้นที่อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก กับ UNESCO ซึ่งจะเป็นการยกฐานะความสำคัญของพื้นที่บริเวณดังกล่าวซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอริมโขงได้แก่ อโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม และบางส่วนของอำเภอสิรินธร เรื่องที่ทำให้สบายใจระดับหนึ่งคือ ข้อกำหนดของการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกของ UNESCO คือ กำหนดให้ต้องมีการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นกฎ ระเบียบ ต่างๆ ที่จะออกมาในกรณีนี้ ต้องผ่านการคิดร่วมกับประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนเรื่องอุทยาธรณีโลกเป็นเรื่องที่หลายฝ่าย ทั้งราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และ รัฐบาลต้องร่วมกันทำงาน



บทบาทของท้องถิ่น โดยเฉพาะทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องวางแผนรองรับ ทั้งระบบขนส่งสาธารณะ ที่จะรับนักท่องเที่ยวจากสถานีขนส่งหลักของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น สนามบิน สถานีรถไฟ หรือ สถานีรถโดยสาร ไปยังแหล่งท่องเที่ยวจุดต่าง ๆ และเอื้อต่อการพัฒนาด้านธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของชุมชนในพื้นที่ เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนบนฐานชุมชน (Community Base Tourism)

อุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่ ดังนั้นนโยบายจึงต้องคิดถึงพื้นที่ทางตะวันตกของจังหวัดด้วย เช่น การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้อุบลราชธานีมีความมั่นคงด้านอาหาร หรือ พื้นที่เมืองที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น พร้อมจำนวนของคนจนเมือง การสร้างความมั่นคงที่ที่อยู่อาศัยจึงมีความจำเป็นเช่นกัน

วันต่อมาที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงอีกจังหวัดคือ มุกดาหาร เป็นจังหวัดที่มีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ข้ามไปฝั่ง ส.ป.ป. ลาว ที่แขวงสะหวันนะเขต ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ของคณะก้าวหน้าคือ คุณสุพจน์ สุอริยพงษ์ มุกดาหารเป็นจังหวัดไม่ใหญ่มี 7 อำเภอ แต่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนก่อนสถานการณ์โควิด ปีละ 2 ล้านคน องค์การบริหารส่วนจังหวัดในอดีต ได้ลงทุนสร้างหอแก้ว หอคอยชมทิวทัศน์ริมโขงสูง 65.50 เมตร ตั้งแต่ปี 2539 นับเป็นหอคอยชมทิวทัศน์ยุคแรก ๆ ของภาคอิสานและ ของไทย ถึงวันนี้ก็ยังมีผู้มาเยี่ยมชมค่อนข้างมาก แต่ระยะเวลาการให้บริการมา 24 ปี จำเป็นต้องหาทางปรับปรุง โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ของมุกดาหาร และ สภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งอโคจรยามค่ำคืน ให้กลายเป็นพื้นที่ public space ให้คนมุกดาหาร และ นักท่องเที่ยว มาพักผ่อนหย่อนใจกัน



ขนส่งสาธารณะในพื้นที่เป็นอีดโจทย์หนึ่ง ที่จะทำให้การเชื่อมต่อจุดต่าง ๆ ทั้งสถานีขนส่งรถโดยสารที่นับว่าเป็นสถานีขนส่งหลักของจังหวัด ที่ไม่มีทั้งสนามบิน และ สถานีรถไฟ ไปยังย่านการค้า ที่ท่องเที่ยว และ ศูนย์ราชการ โรงพยาบาลได้สะดวกยิ่งขึ้น



เรื่องที่เด่นอีกเรื่องหนึ่งของมุกดาหารที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือเรื่องระบบสาธารณสุข ที่ทั้งคนในจังหวัดมุกดาหาร และ สะหวันนะเขต มาใช้บริการจะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นเพื่อกระจายบริการหมอครอบครัว และ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงทุกชุมชนในความรับผิดชอบของ รพ.สต. และ การเป็นด่านหน้าของการเฝ้าระวังโรคระบาดในพื้นที่ชายแดน ไทย-ลาว ต้องมีความเข้มแข็ง โดยมีระบบข้อมูลการสอบสวนโรค และ ปฏิบัติการป้องกันโรคที่รวดเร็ว เป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ได้

เนื่องจากมุกดาหาร มีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอยู่ตลอด ผลกระทบเรื่องหนึ่งคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีขยะที่ต้องจัดเก็บจากตัวเทศบาลเมืองมุกหาดารกว่าวันละ 40 ตัน และยังมีเทศบาลอื่นๆ นำขยะมาสมทบที่บ่อขยะของเทศบาล จนกลายเป็นภูเขาขยะ ซึ่งต้องรีบจัดการทั้งแนวทางการคัดแยก และ นำขยะไปผลิตเป็นปุ๋ยและพลังงาน



ปิดท้ายที่ 101 หรือ จังหวัดร้อยเอ็ด ว่าที่ผู้สมัครคือ คุณสถาพร ว่องสัธนพงษ์ จังหวัดที่คุณธนาธร เพิ่งลงไปเปิดตัวทีมว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วนำการบ้านมาฝากทีมนโยบาย ทั้งเรื่องการปรับปรุงสนามกีฬาจังหวัด การพัฒนาพื้นที่บึงธวัชชัย ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งทีมนโยบายกำลังพัฒนาชุดนโยบายที่เป็นรูปธรรม



เรื่องที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดร้อยเอ็ดคือ การทำให้โรงเรียนในสังกัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อเรียนแล้วได้วุฒิทั้งสายสามัญ และ สายอาชีพ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาการ เช่น เครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ไอที สื่อการสอนเสริมเพื่อติวเข้ามหาวิทยาลัย และ การจัดหาบุคคลากรที่จะมาเป็นครู โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีให้ได้ครบทุกโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ให้เทียบเท่าโรงเรียนชั้นนำอื่น ๆ โดยพื้นฐานเชื่อว่า ท้องถิ่นจะจัดการศึกษาได้ดีกว่า กระทรวงศึกษา เพราะสามารถดูแลได้ทั่วถึง และ จัดสรรทรัพยากรให้ได้มากกว่า



ปิดท้ายจังหวัดร้อยเด็ดที่อนุสาวรีย์อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ (ร้อยเอ็ด) สัญลักษณ์ที่คณะราษฎร สร้างไว้เพื่อระลึกถึงระบอบประชาธิปไตย และ รัฐธรรมนูญ ที่ต้องทำนุบำรุงหลัก 6 ประการ คือ "เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา"



การทำงาน #เขย่าท้องถิ่น ของ #คณะก้าวหน้า มุ่งเอานโยบายแข่ง ไม่ใช้เงินนำการเลือกตั้ง ไม่ซื้อเสียง เราจึงทำงานหนักร่วมกับว่าที่ผู้สมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะมีชุดนโยบายไม่ขายฝัน เป็นรูปธรรม ทำได้จริง ตั้งแต่วันแรกหากได้รับการเลือกตั้ง

ไกลก้อง ไวทยการ
คณะก้าวหน้า