Open Government Monday EP13

[Open Government Monday]
[กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อ Open Government]
ไกลก้อง ไวทยการ



ทุกวันจันทร์ผมจะโพส เกี่ยวกับ Open Government ทั้งไอเดียที่จะนำมาใช้ และ กรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อขยายภาพนโยบาย #Opengoverment หรือ #รัฐเปิดเผย ของพรรค #อนาคตใหม่
ขณะที่ Open Government คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคประชาสังคม กับการออกแบบนโยบาย หรือ การตัดสินใจภาครัฐ โดยผ่านช่องทางเทคโนโลยี ซึ่งกำลังเป็นทิศทางที่หลายประเทศ กำลังพัฒนา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมที่เป็นประชาธิปไตย เชื่องโยงภาครัฐ รัฐสภากับประชาชน
อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคกับเรื่องรัฐเปิดเผยหรือ Open Government ในประเทศไทยคือ กฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาโดยเฉพาะชุดกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ เริ่มจาก
  • การบังคับใช้ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีหลายกรณีนำไปใช้กล่าวหาผู้แสดงความเห็นต่างกับผู้มีอำนาจรัฐ ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่แสดงความเห็นต่อการทำงานของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่เชื่อมโยงต่อเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น
  • พรบ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่มีข้อกังวลถึง คำนิยามของภัยระดับวิกฤต ที่กินความกว้างจนสุ่มเสียงต่อการบังคับใช้กฎหมายที่เกินกว่าเหตุ เช่น การบุก ยึด ดักดูข้อมูล โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล เรื่องนี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของกลุ่ม civic tech หรือ start up ที่ต้องการทำงานกับข้อมูลของหน่วยงานที่ต้องใช้ข้อมูลของ หน่วยงานที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ หรือ Critical Information Infrastructure
  • พรบ.ข่าวกรองแห่งชาติ ที่ให้อำนาจสำนักข่าวกรองฯ ใช้วิธีการใด ๆ เพื่อเข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวกรอง ทำให้ประชาชนหวาดระแวงเมื่อจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐ
  • พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีข้อยกเว้นให้กับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งทำให้เจ้าของข้อมูลไม่สามารถที่จะทราบถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของตน ในหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นได้
  • พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ล้าสมัย ไม่ได้กล่าวถึงการให้บริการข้อมูลข่าวสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ
นอกจากนั้นยังมีร่างกฎหมาย ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา อาทิ (ร่าง) พรบ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ ซึ่งทำให้ชั้นความลับของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคง ที่กินนิยามกว้าง เป็นความลับมากขึ้น และมีบทลงโทษแก่ผู้เปิดเผย
บางเรื่องเป็นอุปสรรค แต่อาจจะไม่ได้เป็นมิติด้านกฎหมาย อาทิ มาตรฐานการเข้าถึงข้อมูลของคนทุกกลุ่ม เช่น ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ุ หรือ ผู้ที่ใช้ภาษาถิ่นในชีวิตประจำวัน ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐโดยเฉพาะในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการสแกนเอกสารที่รูปภาพขึ้นเว็บไซต์
ความอุปสรรคเหล่านี้ สามารถใช้กลไกทางนิติบัญญัติ มาช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆ ที่สกัดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ผลิตโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เร่งออกมาบังคับใช้ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม ความท้าทายเหล่านี้เป็นความท้าทายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และ ประชาชน ต้องร่วมมือกันจัดการกับความไม่ถูกต้องที่ผ่านมา เพื่อสร้างรัฐที่เปิดเผย เชื่อมโยง และ ตรวจสอบได้จากประชาชน
บทความนี้เป็น CC:BY นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำได้ โดยอ้างที่มา
อ่าน Open Government Monday ย้อนหลังได้ที่ https://klaikong.in.th/