Open Government Monday EP20
Published by Klaikong,
[Open Government Monday]
[ความเห็นต่อการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา]
ไกลก้อง ไวทยการ
เมื่อวันที่ 25 จนถึงเช้าวันที่ 27 ที่ผ่านมา ผมในฐานะผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้เตรียมที่จะอภิปราย นโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ในที่สุดเวลาไม่เอื้ออำนวย ผมจึงขอนำเอาสิ่งที่จะอภิปรายในรัฐสภามา มาลงไว้ให้ทุกท่านได้อ่าน ใน Open Government Monday ของสัปดาห์นี้
ตามที่ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐบาลนั้น ผมใคร่ขอแสดงความเห็นในส่วนของ แนวนโยบาย การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะสิ่งที่ท่านพยายามจะทำซึ่ง ที่เรียกว่ารัฐบาลดิจิทัล
ซึ่งประกอบด้วย
- การปรับปรุงเรื่องการขออนุมัติ อนุญาติ ต่าง ๆ
- การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ที่เรียกว่าโอเพ่นดาต้า
- การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า
โดยหลักการ ก็เป็นหลักการที่ดีมาก ผมมีข้อสังเกตดังนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ท่านมีเวลาบริหารประเทศมา 5 ปี และการแถลงนโยบายของท่านต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2557 ก็พูดเรื่องเดียวกัน ทั้งการสร้างจุดบริการภาครัฐเบ็ดเสร็จ การทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้เทคโนโลยี การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ ซึ่งดูเหมือนความก้าวหน้าที่สุดออกมาช่วงปลายรัฐบาล คสช. ของท่านคือการเลิกใช้สำเนาเอกสารราชการทั้งหมด ซึ่งก็เลิกได้ไม่จริง โดยเฉพาะการติดต่อราชการในโรงเรียนของรัฐ ซึ่งในอนาคตก็หวังว่าจะทำได้ครบร้อยเปอร์เซนต์
ในนโยบายพูดถึง การนำระบบโปรแกรมออนไลน์มาใช้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การนำเอาโปรแกรมออนไลน์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ หน่วยงานรัฐมักจะเป็นผู้จัดทำเอง โดยการโยนแบบฟอร์มกระดาษที่ซับซ้อน แปลงไปเป็นแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนผู้ใช้งาน หรือ ที่เราเรียกว่าการศึกษาผู้ใช้อย่างแท้จริง ยิ่งผู้พิการทางสายตามักจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงไม่ค่อยมีระบบไหนที่ประสบความสำเร็จ และ ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายต่อการใช้ระบบออนไลน์
โดยเฉพาะการใช้โมบายแอพลิเคชั่นของภาครัฐ ณ ปัจจุบัน รัฐบาลลงทุนทำโมบายแอพลิเคชั่นมาแล้วประมาณ 300 แอพ ถ้าคิดโดยเฉลี่ยใช้งบประมาณแอพพลิเคชั่นละ 5 ล้านบาท จะเป็นงบประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดยอดผู้ใช้ ส่วนใหญ่อยู่ในหลักร้อย และ เมื่ออ่านในช่องแสดงความเห็นกลับมา กลับพบว่าความเห็นต่อการใช้ค่อนข้างแย่ อีกทั้งบางเรื่องทำมาแล้ว ซ้ำซ้อน อาทิ ทำไมเราต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มมาอีกใบ ทั้งๆ ที่เรามีบัตรประชาชน มีชิป ที่เป็น smart card อยู่แล้ว
เรื่องนี้ควรเป็นบทเรียนที่มากพอ ของการทำระบบออนไลน์บริการภาครัฐ ซึ่งรัฐไม่ควรทำเอง หรือ ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิม ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าแต่ละหน่วยงานมีบริษัทไอทีเจ้าประจำใช้งานอยู่
อย่างไรก็ตามหากสามารถจะใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาทในการทำระบบออนไลน์ ก็ควรใช้วิธีการตามนโยบายข้อ 11.7.2 ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดให้มีสนามทดลองแนวคิด ผลิตภัณฑ์ หรือ นวัตกรรมใหม่ ทำงานแบบพหุภาคี ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มาใช้ในเกิดประโยชน์ ในการออกแบบบริการออนไลน์ภาครัฐด้วย
ที่สำคัญ การบริการออนไลน์ภาครัฐจะสำเร็จได้ ต้องทำเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐหรือ โอเพ่นดาต้า ควบคู่ไปด้วย โดยข้อมูลที่เปิดเผยนั้น ต้องเป็นข้อมูลที่ส่งเสริมให้เหล่าผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ให้สามารถออกแบบบริการ ที่อำนวยความสะดวกต่อประชาชน เพื่อเข้าถึงบริการภาครัฐได้ และสามารถสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลไปพร้อมกัน เช่น แอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพ อาจทำเรื่องนัดพบแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ ไปได้ในตัว เป็นต้น
เมื่อระบบออนไลน์ภาครัฐ ประชาชนนิยมใช้ บิ๊กดาต้า ที่จะมาสนับสนุนการทำงานของท่าน ก็จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริหาร ต้องเข้าใจการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่นั้นด้วย และ ผมหวังว่าท่านนายกจะใช้บิ๊ก ดาต้านี้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จ
หัวใจของการเปิดเผยข้อมูลหรือ โอเพ่นดาต้า นั่นเพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใส และ เป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ที่ท่านบอกว่าให้ทำการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อนนั้น การเปิดเผยข้อมูลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ท่านต้องให้เสรีภาพแก่ประชาชน ในการนำข้อมูลนั่นมาตั้งคำถามกับท่าน หรือตรวจสอบท่านด้วย ท่านเขียนนโยบายออกมา แต่วัฒนธรรมของระบบราชการซึ่งเต็มไปด้วยระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการเปิดเผยข้อมูล และ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ล้าสมัย กฎหมาย พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต มาตรา 36 เขียนไว้จน ปปช. ไม่สามารถเปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และ ภาคประชาสังคมที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ปปช. ได้ ซึ่งต่อไป ไม่ว่าเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน หรือ เรื่องร้องเรียนทุจริตอื่นๆ ก็คงไม่มีรายละเอียดออกมาสู่สาธารณะ
อีกทั้งเรายังมีกฎหมายที่เอามาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการใช้ข้อมูลมาตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ตัวอย่างเช่น พรบ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งบางครั้งเอาข้อมูลมาจากภาครัฐเอง ก็โดนกล่าวหาว่าเป็นข้อมูลเท็จ อีกทั้งหลัง พรบ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ปี 60 ออกมา ก็มีสถิติคดีมากขึ้น โดนเฉพาะกับ ผู้เห็นต่างการการเมือง อย่างเห็นได้ชัด หรือ หากมีวันใด มีโปรแกรมเมอร์ดึงเอาข้อมูล งานวิจัยของ กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และ นวัตกรรม หรือ ข้อมูลการจัดซื้อ จัดจ้าง อิเล็กทรอนิกส์ของ กรมบัญชีกลาง เพราะเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้ควรเป็นสาธารณะ มาแสดงผลใหม่ให้เข้าถึงง่าย เขาจะโดนความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือไม่
กฎหมายที่มีอยู่เหล่านี้เป็นอุปสรรค ต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งท่านไม่ได้บอกว่าท่านจะแก้ไขกฎหมายนี้ ในนโยบายแต่อย่างใด
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นในรัฐบาลที่แล้วท่านก็พยายามดำเนินการเรื่องเหล่านี้ ผมอยากจะอ้างถึง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ให้กระทรวงการคลังดำเนินการสมัครเข้าร่วม เป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หรือ Open Government Partnership: OGP ที่มีประเทศเข้าร่วมแล้วกว่า 70 ประเทศ ซึ่งทุกประเทศต้องส่งแผนปฏิบัติการ ของการทำงานร่วมกันเชิงนโบาย ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยเริ่มจากเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จะมีเรื่องพื้นฐาน เช่น เรื่องงบประมาณ รวมถึงเรื่องนโยบายสิทธิการเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารของราชการ ช่องทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ประเทศที่เข้าร่วม OGP ส่วนแต่มาดัชนีด้านคอร์รัปชั่นดีขึ้นทั้งนั้น
แต่ผ่านไป 3 ปีครึ่ง เรื่องนี้รัฐบาลที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถปฏิบัติได้แต่อย่างใด ผมเข้าใจว่ารัฐบาลที่แล้วเป็นรัฐบาลทหาร ทาง OGP จึงยังไม่พิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก แต่ท่านก็ควรร่างแผนออกมา เพื่อเตรียมพร้อม เพื่อดำเนินการในรัฐบาลเลือกตั้ง แต่เรื่องนี้ไม่มาปรากฎในคำแถลงนโยบายนี้ จึงต้องถามถึงความตั้งใจที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้สำเร็จจริง ๆ หรือแค่ตัวหนังสือสวยหรู และ ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติ
เรื่องที่ผมกล่าวข้างต้น ท่านเองก็ยกเอามาเป็นนโยบายเร่งด่วนด้วย ซึ่งก็ไม่ได้มีการลำดับความสำคัญ ว่าท่านจะทำเรื่องการอนุญาตเรื่องใดก่อน เรื่องใดหลัง หรือ จะมีตัวชีวัดอย่างไรให้พวกผมได้ติดตามการทำงานกัน
อย่างไรก็ตาม มีนโยบายเร่งด่วนในข้อ 7 คือการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีทั้งเรื่องการศึกษา และ การรู้เท่าทันโลกดิจิทัล ซึ่งทั้ง 2 อย่างนั้นควรทำควบคู่กัน อย่างไรก็ตามนโยบายของท่านชอบใช้คำว่า ‘ปลูกฝัง’ ซึ่งเป็นวิธีการแบบเดิม
แต่สิ่งที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 คือการส่งเสริมให้คนไทยสามารถคิดเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า critical thinking ว่าสิ่งใดใช่ หรือ ไม่ใช่ ควรเชื่อหรือไม่ และอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับตนเอง และ สังคม เพื่อนำมาตัดสินใจต่อโลกข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และ ท่วมท้น
ที่สำคัญรัฐต้องไม่เข้าไป ควบคุมข้อมูลข่าวสาร และ บอกว่าข่าวสารนี้จริง ไม่จริง แต่ควรส่งเสริมให้การรู้เท่าทันโลกดิจิทัล เป็นบทบาทของชุมชนที่เรียกว่า netizen หรือ พลเมืองเน็ต ที่ประกอบด้วยผู้ใช้งาน ผู้กำกับดูแล และ ผู้ให้บริการออนไลน์ ทำงานร่วมกัน และ ตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน
ดังนั้น การดำเนินนโยบายปฏิรูปราชการ โดยเฉพาะเรื่องการทำเรื่องรัฐบาลดิจิทัล การเปิดเผยข้อมูล และใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ ผู้นำรัฐบาลต้องมีความเข้าใจเรื่องนี้จริง และ มีการติดตามงานอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุผล นโยบายรัฐที่แถลงต่อสภา ถือเป็นสัญญาประชาคม ดังนั้นเมื่อแถลงแล้วต้องทำได้จริง หวังว่ารัฐบาลดิจิทัล การปรับปรุงบริการภาครัฐ จะเป็นรูปธรรมในอายุรัฐบาลของท่าน
ขอบคุณครับ
อ่านเอกสาร คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ได้ที่ http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/549943
บทความนี้เป็น CC:BY นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำได้ โดยอ้างที่มา
อ่าน Open Government Monday ย้อนหลังได้ที่ https://klaikong.in.th/