Open Government Monday EP6
Published by Klaikong,
[Open Government Monday]
[คุณเลือกได้ เงินภาษีของคุณ งบประมาณของรัฐ จะนำไปใช้ทำอะไร]
ทุกวันจันทร์ผมจะโพส เกี่ยวกับ Open Government ทั้งไอเดียที่จะนำมาใช้ และ กรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อขยายภาพนโยบาย #Opengoverment หรือ #รัฐเปิดเผย ของพรรค #อนาคตใหม่
รัฐเปิดเผยหรือ Open Government หลายคนสงสัยว่ารูปธรรมจะเป็นอย่างไร เอาเรื่องใกล้ตัว ที่ไม่มีใครหลีกพ้น คือเรื่องเงินภาษี ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเสียภาษีครับ ไม่ว่าทางตรง หรือ ทางอ้อม รัฐบาลส่วนกลาง และท้องถิ่น ที่มีหน้าที่เปิดเผยจำนวนรายได้จากเงินภาษี ที่มาให้ประชาชนได้รับทราบ และ การจัดทำงบประมาณประจำปีต้องเปิดเผยด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไประบอบประชาธิปไตย จะให้ตัวแทนของประชาชนในสภา ทำหน้าที่พิจารณางบประมาณ แต่หลายครั้งการพิจารณาการใช้งบประมาณ ไม่ได้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อาจเพราะกลไกการนำเสนองบประมาณ กระทำผ่านฝ่ายข้าราชการประจำ และ มีงบประมาณที่ตั้งไว้รองรับนโยบายของรัฐบาล แต่คงไม่พอต่อความต้องการของประชาชนทั้งหมด และ ตอบสนองต่อความคิดริเริ่มที่จะแก้ปัญหาใหม่ ๆ
ความเป็นรัฐเปิดเผย หัวใจคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหากจะนำเงินภาษีของพวกเราไปใช้ทำอะไรนั้น ยิ่งต้องคำนึงถึงวิธีการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการใช้เงินภาษี หรือ เงินงบประมาณ ในระดับประเทศมีแนวทางมี่จะทำได้ เช่น สอบถามผู้เสียภาษีเงินได้เมื่อ ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรือ อาจจะทำประชามติ ในการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ และ เป็นที่ถกเถียงของสังคม แต่ในระดับท้องถิ่นมีกรณีศึกษาดี ๆ เรื่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้งบประมาณท้องถิ่น ในหลายเมือง อาทิ
นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ทุกปีจะจัดสรรงบประมาณมูลค่า 1 ล้านเหรียญ เพื่อใช้ชุมชนชาวนิวยอร์คเสนอโครงการเพื่อใช้งบประมาณนี้ปรับปรุงจุดต่าง ๆ ของเมืองไม่ว่าจะเป็นด้านเยาวชน การขนส่ง สุขอนามัย ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ศิลปะวัฒนธรรท เสนอผ่านเว็บไซต์ แล้ว ประชาชนนิวยอร์คโหวตกันว่าโครงการไหนสมควรได้รับงบประมาณ (https://shareabouts-pbnyc-2018.herokuapp.com/11/40.71838/-73.94417)
เมืองมิลาน อิตาลี จัดงบประมาณ 4.5 ล้านยูโร สำหรับ 9 เขต เพื่อให้ประชาชนเสนองบประมาณ และ โหวตออนไลน์เช่นกัน (https://bilanciopartecipativo.comune.milano.it/)
นครปารีสฝรั่งเศส จัดสรรงบประมาณ 5 เปอร์เซนต์ รวมทั้งหมดตั้งแต่เร่ิมโครงการตั้งแต่ปี 2014 เป็นเงินเกือบ 500 ล้านยูโร ปัจจุบันมีโครงการที่ผ่านการโหวตจากชาวปารีสจำนวน 1,321 โครงการกระจายอยู่ทั่วทุกเขตในปารีส (https://dashboard.paris/pages/detail-budget/)
ใกล้บ้านเรา ก็ไม่น้อยหน้า เมืองสุราการ์ตา เมืองใหญ่ใกล้ ยอร์คยาการ์ต้า ก็เริ่มใช้วิธีการจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมตั้งแต่ปี 2009 ในสมัยที่นายโจโก วิโดโด้ ประธานาธิปดีคนปัจจุบัน เป็นผู้ว่าเมืองสุราการ์ตา ใช้วิธีสำรวจความต้องการของประชาชนในชุมชน แล้วมาจัดทำแผนงบประมาณ โดยทั้งกระบวนการเปิดเป็น Open Data (https://solokotakita.org/en/)
ย้อนกลับมาที่เมืองใหญ่ ๆ อย่าง กทม. ที่มีงบประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณนี้ แต่กลับมีปัญหามากมาย มีหลายโครงการมีความริเริ่มที่ดี ทั้งจากชุมชน และ ประชาชนในกทม. แต่การที่จะเข้าถึงทรัพยากรและงบประมาณของกรุงเทพมหานครนั้น กลับมีขั้นตอนที่ซับซ้อน เป็นคอขวด และ มีความเป็นราชการสูง ทำให้คนในเมืองมีสภาพ "จน โสด อ้วน" การให้ประชาชนที่จ่ายภาษี ที่มาใช้เป็นงบประมาณของ กทม. โดยตรงนั้นเป็นสิ่งที่พึงเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตรง และ เข้าใจประชาชนในชุมชนต่าง ๆ
พรรคอนาคตใหม่ ชูนโยบายกระจายอำนาจ ได้พูดชัดเจนแล้วว่า งบประมาณระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ต้องมีการกลับคืนให้ท้องถิ่นบริหารเองให้ถึง 50:50 และภาษีมูลค่าเพิ่มในท้องถิ่นต้องแบ่งคืนในท้องถิ่นในอัตราที่ชัดเจน แต่จะสมบูรณ์มากขึ้นเราจึงตั้งใจนำรูปแบบการจัดทำงบประมาณแบบประชาชนมีส่วนร่วมมาใช้ด้วย โดยทั้งหมดต้องเป็นกระบวนการที่เปิดเผย เป็น Open Data โปร่งใส ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ออกแบบการแก้ปัญหาในชุมชนที่ตัวเองอยู่ และ เกิดการพัฒนาร่วมกัน