Opendata Day 2021


เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ทั่วโลกจัดกิจกรรม International Open Data Day หรือ วันข้อมูลเปิดสากล พรรคก้าวไกล ร่วมกับ ฝ่ายนโยบายท้องถิ่นคณะก้าวหน้า จึงได้จัดกิจกรรม Open Data Day และเปิดตัวชุมชน <ก้าว : Geek> ชุมชนเพื่อพัฒนาแอพลิเคชั่นแบบเปิด หรือ open source เพื่อการติดตามการทำงานภาครัฐ และ เครื่องมือในการเปิดข้อมูลของท้องถิ่น รวมทั้งการช่วยเหลือสังคม บนโลกดิจิทัล

ผมได้มีโอกาสเป็นผู้ดำเนินรายการ การเสวนา สบายๆ แบบมีสาระ ในหัวข้อ "Opendata เมืองไทยยังไงกัน"
การพูดคุยครั้งนี้ มีผู้ร่วมพูดคุยบนเวทีอีก 3 คน คือ คุณเท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล คุณฉัตร คำแสง ฝ่ายนโยบายท้องถิ่น คณะก้าวหน้า และ น้องแคน แคน นายิกา ศรีเนียน อาสาสมัครพรรคก้าวไกล กทม.

ส.ส. เท้งได้พูดถึง ข้อมูลเปิดโดยเฉพาะเรื่องการทำงบประมาณประจำปี 65 ซึ่งมีตัวเลขงบประมาณสูงถึง 5 ล้าน ๆ บาท ถ้ามี Open Data ก็จะสามารถติดตามตรวจสอบยอดการของบประมาณรายโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เท้งยังบอกอีกว่าหน่วยราชการกังวลเรื่องการเปิดข้อมูล เพราะกลัวว่าคนจะนำข้อมูลไปบิดเบือน หรือ ข้อมูลของหน่วยงานมีข้อผิดพลาด แต่อันที่จริง มีกระบวนการทางเทคนิคที่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลนั้นมีจากหน่วยงานจริงหรือไม่ และ การเปิดเผยข้อมูลในที่สุดก็จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมทำให้ได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงมากขึ้น

ฉัตร ได้เน้นถึงการเก็บข้อมูลของส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาและการจัดการบริหารท้องถิ่น ทั้งระดับจังหวัด ระดับเทศบาล และ ระดับตำบล อาทิ เรื่องข้อมูล ถนนที่มีคุณภาพควรเป็นอย่างไร ข้อมูลการจัดการนำ้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง การจัดการการถือครองที่ดินสาธารณะ ซึ่งการเปิดข้อมูลจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างมาก

แคน แคน ตอนนี้เป็นอาสาสมัคร ของพรรคก้าวไกลในพื้นที่เขตบึงกุ่ม คันนายาว แคน ได้ยกตัวอย่างเรื่องของข้อมูลรถเก็บขยะ ที่ชาวบ้านไม่รู้ว่ารถขยะจะมาวัน เวลาไหนบ้าง และเว็บไซต์ของเขต ก็ให้ข้อมูลไม่หมด ในที่สุดก็ต้องรวบรวมข้อมูลทำตารางเวลารถขยะให้ชาวบ้านเอง ส่วนการส่งเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ บางครั้งมีกรณีเรื่องหลุด เรื่องหาย ซึ่งอยากให้ระบบรับเรื่องร้องเรียนง่าย ทั้งการร้องเรียนและ การติดตาม

ทั้ง 3 ยังได้ให้ความเห็นว่า การเปิดข้อมูลนั้นมีประโยชน์ กับ ประชาชนมาก แต่อย่างไรก็ตามการใช้ข้อมูล หรือ การออกแบบบริการจากข้อมูลภาครัฐต้องคำนึงถึงประชาชนที่เข้าไม่ถึงการใช้งานดิจิทัลด้วย ซึ่ง Opendata ที่ดีนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย เป็นทั้งหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผยการทำงานต่อประชาชน และ เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเข้าถึงข้อมูลและการบริการของรัฐ และรัฐต้องรับฟังข้อมูลจากประชาชน

ดูคลิปเต็มได้ที่ : https://youtu.be/uJGb2S5fuKc?t=1926

ไกลก้อง ไวทยการ
6 มี.ค. 64