พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับการปิดกั้นเสรีภาพ



เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา ผมไปทำหน้าที่ รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่อาคารรัฐสภา แม้ว่าจะมีข่าวว่าฝ่ายความมั่นคง ขอความร่วมมือ ไม่ให้กรรมาธิการประชุมเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเนื่องจากมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นคำขอความร่วมมือที่ฟังดูไร้สาระ เพราะรัฐสภาเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยหลักของประเทศ และมีหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้พิจารณาที่จะ เสนอร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ( https://prachatai.com/journal/2020/09/89658 ) ร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัลฯ ร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์


โดยเฉพาะวันนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาให้ข้อมูลทั้งผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ปอท.โดยคณะอนุกมธ. มีความเห็นในหลักการใหญ่ว่า พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการที่มีการใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ เพิ่มฐานความผิดไปสำทับกับกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้วเช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ตัวอย่างเช่น การรีวิวโรงแรมที่แย่ อาจโดนโรงแรมฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพ์กลับ เป็นต้น ซึ่งหากมีกฎหมายตัวอื่นที่มีฐานความผิดแบบเดียวกัน พ.ร.บ.คอมพ์ ก็ไม่ควรจะใช้ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

ภาพจาก: สถานีโทรทัศน์รัฐสภา

ที่สำคัญคือประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคง มีกฎหมายความมั่นคงอีกเป็นชุด ที่จะเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายบริหารใช้ในการควบคุมข้อมูลข่าวสาร เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน คณะอนุกรรมาธิการจึงเสนอว่าควรจะมีการแก้ไข เพื่อไม่ให้มีการใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ ไปซ้ำซ้อนกับกฏหมายที่มีโทษทางอาญาฉบับอื่น

ไกลก้อง ไวทยการ
รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษา
ร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน
สภาผู้แทนราษฎร
========================================

ดูสรุปรายงานการประชุมของคณะอนุฯ ได้ที่ https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/25_politic_sub4/more_news.php?cid=72

คลิปรายการ กรรมาธิการพบประชาชน ตอนที่ 4 วันที่ 23-10-63
https://youtu.be/hAkgqRCGtTA