SMART Parliament in Singapore (2/4)


วันที่ 2 ของการเยือนสิงคโปร์ เนื่องจากการมาสิงคโปร์ครั้งนี้หลายคนสงสัยว่าทำไมมาช่วงติดเสาร์-อาทิตย์ด้วย อันนี้ต้องอธิบายเชื่อมไปถึงการทำหน้าที่ประธานในสภาผู้แทนราษฎรของหมออ๋อง ทั้งวันพุธและวันพฤหัส ดังนั้นกำหนดการการทำงานที่สิงคโปร์ครั้งนี้จึงเป็นแบบ 2 วันที่เป็นวันทำการ พบหน่วยราชการในสิงคโปร์ ส่วนเสาร์อาทิตย์พบภาคเอกชน สมาชิกสภาของสิงคโปร์
ซึ่งรายงานกิจกรรมวันนี้เป็นรายงานของวันเสาร์ที่ 23 ก.ย. เป็นการไปพบภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจ Startup ด้านจักรยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนไฟฟ้าสำหรับจักรยานยนต์ และ รถบรรทุกขนาดเล็กที่เป็น EV ซึ่งทางภาคเอกชนได้นำเสนอถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบเปลี่ยนสลับกับแบตที่หมด โดยการวางจุดสลับแบตเตอรี่ไว้ตามที่ต่าง ๆ เพื่อสะดวกต่อการมาใช้บริการ ซึ่งทางผู้ประกอบการได้เริ่มต้นธุรกิจทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้า และ แบตเตอรี่แล้วที่ประเทศกัมพูชา อินโดนีเชีย และกำลังขยายการลงทุนมายังประเทศไทย และมีโรงงานแบตเตอรี่ ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ถ่านหิน และ พลังงานที่หลากหลายของไทย
เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าหรือจักรยานยนต์ไฟฟ้า มองผิวเผินอาจไม่เกี่ยวกับรัฐสภานัก แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะหากต้องกำหนดมาตราฐานบางอย่างเช่น รูปแบบแบตเตอรี่แบบสลับเปลี่ยนได้ที่ต้องใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าควรเป็นเช่นไร รวมถึงเรื่องภาษี การประกันภัย การจดทะเบียน เหล่านี้กระบวนการนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนทั้งสิ้น

ช่วงเย็น ๆ ค่ำ คณะได้มีโอกาสไปเยี่ยมคนงานไทย ที่ที่พักคนงานทีมาทำงานภาคก่อสร้าง การขุดเจาะน้ำมันและท่อส่ง หรือ การต่อเรือที่สิงคโปร์ ซึ่งทางรัฐบาลสิงคโปร์ มีการจัดการแรงงานที่มาทำงานในภาคธุรกิจทั้ง 3 นี้จากต้นทางคือมีบริษัทที่ผ่านการรับรองไปหาคนงานมา เมื่อมาถึงก็จัดการอบรมแรงงานและหาที่พักให้โดย ที่พักคนงานบริหารจัดการโดยเอกชน ที่พักที่คณะได้เดินทางไปมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารหอพักขนาดใหญ่ มีคนงานทั้งหมด 25,000 คน มีคนไทยในนั้นประมาณ 400 คน นอกนั้นมาจากหลายประเทศทั้งปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เมืยนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นต้น โดยทางคณะได้สอบถามถึงความเป็นอยู่และการมาทำงานในสิงคโปร์ซึ่งทั้งหมดตอบว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ดี และ ดูแลแรงงานดีอีกทั้งมีระบบกฎหมายที่ใช้ได้จริง การเป็นอยู่ในแคมป์อยู่ห้องละ 12 คน ค่าครองชีพทั่วไปไม่ต่างจากไทย แถมยังเดินทางไปมาประเทศไทย หรือกลับบ้านได้ง่าย ที่แคมป์คนงานมีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านขายโทรศัพท์มือถือ ยิม และ คลินิกพร้อม แต่ที่อยากเพิ่มเติมคือกันพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้ค่าแรงมากขึ้น เช่น ทักษะการอ่านแบบก่อสร้าง เป็นต้น ในเย็นวันเสาร์ที่ไป เป็นช่วงที่คนงานไทยเริ่มรวมกลุ่มสังสรรค์ หลายคนเข้ามาทักทายและถ่ายรูปกับหมออ๋อง และให้กำลังใจ ให้ความรู้สึกเหมือนการไปพบญาติในต่างประเทศ และ หลายคนได้เจอผู้แทนในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเองในการไปครั้งนี้เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น
เรื่องแรงงานตอนที่ก้าวไกลเป็นประธานกรรมาธิการแรงงานในสภาผู้แทนชุดที่แล้ว มีการช่วยเหลือแรงงานในต่างประเทศในหลายกรณี รวมทั้งกรณีแรงงานไทยที่เก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์แล้วไม่ได้ค่าแรงตามที่เป็นข่าว ซึ่งเรื่องที่แรงงานไทยในสิงคโปร์ฝากผ่านคณะดูงานมาจะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการแรงงาน และ กระทรวงแรงงานต่อไป ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะแรงงาน แต่เรื่องนี้หมายถึงการดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในมุมมองของงานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องรับประกันสิทธิและการมีส่วนร่วมของคนไทยทั้งด้านกฎหมาย หรือ นโยบาย ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของโลก