SMART Parliament in Singapore (4/4)


วันที่ 4 (25 ก.ย. 66) วันสุดท้ายที่สิงคโปร์ เริ่มต้นที่รัฐสภาสิงคโปร์ดูรายละเอียดในส่วนของ Parlconnect ที่เป็นศูนย์ให้บริการข้อมูลของรัฐสภาสิงคโปร์ เมื่อเข้าไปก็จะพบกับนิทรรศการทั้งประวัติความเป็นมาของการสร้างรัฐสภาสิงคโปร์ เอกสารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ กระบวนการทำงานของรัฐสภา ที่นั่งของสมาชิกรัฐสภาในห้องประชุมสภา และ หน่วยงาน หรือ สำนักต่าง ๆ ของรัฐสภา ให้ผู้มาเยี่ยมชนเข้าใจการทำงานของรัฐสภาในภาพรวม รวมทั้งหากต้องการยื่นเรื่องร้องทุกข์ก็ทำได้ที่นี่เลย ยังมีตู้อัตโนมัติขายของที่ระลึกของรัฐสภา เช่น พวงกุญแจ เข็มกลัด ที่ขั้นหนังสือ เป็นต้น

เรื่องน่าสนใจอีกเรื่องของรัฐสภาสิงคโปร์ คือ ที่สิงคโปร์มีสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 103 คน และมีเจ้าหน้าที่ทำงานเพียง 100 กว่าคนเท่านั้นเทียบสัดส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่กับสมาชิกรัฐสภาคือ เจ้าหน้าที่ 1 คนกว่าๆ ต่อสมาชิกรัฐสภา 1 คน เมื่อเทียบกับสภาผู้แทนราษฎรของไทยที่มีสมาชิก 500 คน แต่มีเจ้าหน้าที่สภาฯ ถึง 2,000 คน เทียบเป็นเจ้าหน้าที่ 4 คน ต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน มีการริเริ่มเรื่องรัฐสภาสีเขียว คือเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ และ สมาชิกรัฐสภาสามารถใส่เพียงเสื้อเชิ้ตมาประชุมสภาได้

การมาสิงคโปร์ย่อมต้องมาเรื่องรัฐบาลดิจิทัล และ เทคโนโลยีคลาวร์ (cloud) ซึ่งมีผู้ให้บริษัทด้านคลาวน์เกือบทุกบริษัทมีสำนักงานที่นี่ คณะเราได้พบกับผู้ประกอบการคลาวน์รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลสิงคโปร์ มีนโยบาย Cloud First Policy คือการนำข้อมูล และ ระบบให้บริการภาครัฐขึ้นบน cloud ซึ่งเป็นการจัดซื้อบริการจากภาคเอกชน ปัจจุบันหน่วยงานรัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินการย้ายระบบสารสนเทศมาใช้ระบบคลาวน์ถึงร้อยละ 70 กลับมาดูโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐสภาไทย แม้ว่ารัฐสภาไทยจะมีศูนย์ข้อมูล (data center) ของตัวเอง แต่ในอนาคตก็จะเจอกับข้อจำกัดทั้งด้านพื้นที่จัดเก็บข้อมูล และเครื่องแม่ข่าย (Server) ที่หมดอายุการใช้งาน ดังนั้นจึงต้องออกแบบแผนงานจัดการข้อมูลไปบนระบบคลาวน์ ในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ และ สมาชิกรัฐสภาเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วจากทุกที่ ลดการใช้กระดาษ และข้อมูลมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ที่สุดท้ายก่อนกลับคือไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเมืองของสิงคโปร์ หรือ Urban Redevelopment Authority เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางผังเมืองและพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ แน่นอนว่าเมืองสิงคโปร์ที่เป็นเมืองที่ดูพัฒนาไปไกลมากในทุก ๆ มิติ เกิดจากการออกแบบวางแผนล่วงหน้าหลายสิบปี อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่เกิดขึ้น ต้องมีการรับฟังภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ URA ได้เล่าให้ฟังถึงโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะ Pulau ทางตอนเหนือของสิงคโปร์ใกล้ ๆ กับสนามบินชางงีว่า เมื่อเริ่มแรกวางแผนพัฒนาเกาะนี้เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนไม่มีใครคัดค้าน ต่อมาเมื่อจะลงมือพัฒนาพื้นที่จริง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้กลับมีคนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์ต้องการให้รัฐบาลอนุรักษ์พื้นที่นี้ เนื่องจากเป็นแหล่งธรรมชาติ มีสัตว์และป่าชายเลนที่สมบูรณ์ จึงรวมตัวกันเรียกร้องผ่าน URA และทำให้โครงการนี้ต้องชลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด นั้นก็หมายถึงกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายเป็นสิ่งที่จะเป็นกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโนบาย ทั้งบริหาร และ นิติบัญญัติ

คงจบเรื่องเล่าการมาทำงานที่สิงคโปร์เท่านี้ การมาทำงานในครั้งนี้ถูกติดตามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ผมเองเห็นว่าประสบการณ์ ความรู้ และ เครือข่าย ที่สิงคโปร์นี้เป็นประโยชน์ในการพัฒนารัฐสภาไทยให้เป็น Smart and Open Parliament การพบปะหลายหน่วยงาน อาจมองว่าหลายหน่วยงานนั้นไม่ใช่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานรัฐสภาโดยตรง แต่อยากจะบอกว่า แนวปฏิบัติ หรือความท้าทายของหน่วยงานนั้น เกี่ยวเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ และ นำปรับใช้กับงานรัฐสภาได้ทั้งสิ้น ส่วนข้อมูลผลการดูงานที่เป็นทางการนั้นทาง หมออ๋อง จะแถลง และ เปิดเผยข้อมูลการดูงานครั้งนี้กับสาธารณะต่อไป