Campaign ระบบ SMS เตือนภัย



หลายคนคงเห็นแคมเปญเข้าชื้อให้ กสทช. ทำระบบ SMS เตือนภัยใน change.org ซึ่งถึงวันนี้มีผู้ลงชื่อกว่า 2,000 คน ผมอยากจะอธิบายเพิ่มเติมแนวคิดของการรณรงค์นี้ ดังนี้ครับ

ประชากรไทยมีโทรศัพท์มือถือเกือบ 100% บางคนมีมากกว่า 1 เครือง ดังนั้นการให้ข้อมูลข่าวสารผ่านโทรศัพท์มือถือจึงเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงแทบจะทุกที่ ทุกเวลา

SMS หรือระบบรับข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่มีมาก่อนเป็นมือถือแบบสมาร์ทโพน สามารถสื่อสารกับคนจำนวนมากในครั้งเดียว โดยเจ้าของโทรศัพท์ไม่ต้องลงแอพพลิเคชั่นใดๆ เพิ่มเติม

วิธีการที่เสนอไม่ใช่ SMS อย่างเดียว แต่ควรลงเตือนในระดับพื้นที่ย่อย ๆ ได้ เช่น เขตเทศบาล หรือ เขตตำบล ที่ได้ผลกระทบจากภัย ซึ่งเทคโนโลยีที่มีอยู่คือระบบ cell broadcasting นั้นคือ ระบบเครือข่ายมือถือจะทราบโดยอัตโนมัติว่า มือถือเครื่องนั้นอยู่ในพื้นที่เตือนภัย และส่งข้อความเตือนไปยังมือถือเครืองนั้นทันที

ในต่างประเทศมีระบบแบบนี้มานานไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ที่เตือนแผ่นดินไหวเป็นประจำ เกาหลีใต้ที่เตือนเรื่องฝุ่น PM 2.5 สหรัฐอเมริกาก็มีระบบที่เรียกว่า Wireless Emergency Alerts (WEAs) ที่เตือนภัยในหลายระดับผ่านระบบข้อความบนมือถือ

ประเทศไทยทำระบบนี้ได้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงคือ กสทช. ซึ่งดูแลผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่าย ซึ่งหาก กสทช. เป็นตัวกลางประสานทุกค่าย และ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เตือนภัย ก็สามารถทำระบบนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้

อีกเรื่องนึงที่ควรทำคือ ทบทวนและปรับปรุงแผน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อให้เรื่องของการทำระบบข้อมูลภัยพิบัติ และ ระบบเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ผมเองจะขอเป็นตัวแทนผู้ที่ลงชือสนับสนุน ไปยื่นเรื่องนี้ต่อ กสทช. เพื่อนำไปสู่การทำระบบเตือนภัยผ่าน SMS ที่เป็นรูปธรรมในวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม เวลา 9:30 น. ที่สำนักงาน กสทช. สายสายลม พหลโยธิน

แน่นอนว่าภัยพิบัติมีหลายระดับ แต่ระดับร้ายแรงถึงขนาดทำให้ระบบการสื่อสารล่มทั้งหมดเกิดขึ้นน้อยมาก และ ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็พัฒนาให้มีระบบสำรอง ดังนั้นผู้บริหารประเทศควรพูดถึงเรื่องการเพิ่มความมั่นคงในเครือข่ายการสื่อสาร เพื่อรับกับภัยพิบัติโดยให้ความสำคัญและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ผิดอะไรที่จะมีเครื่องรับวิทยุติดบ้านไว้หากสถานการณ์เลวร้ายจริง ๆ