ตามธนาธร ลงพื้นที่หลังโควิด 19

ไกลก้อง ไวทยการ
คณะก้าวหน้า


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 - 29 มิ.ย. 63) ผมได้ติดตามคุณธนาธร ลงพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต และ สุราษฏร์ธานี เพื่อพบปะผู้สนับสนุนคณะก้าวหน้า และ ประกาศแนวทางการทำงาน "ท้องถิ่น ก้าวหน้า" เพื่อสร้างการเมืองท้องถิ่นรูปแบบเน้นการแข่งขันทางนโยบาย ในทุกระดับทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต.

ในทุกพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ล้วนมีศักยภาพ และ ความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น

ที่จังหวัดพังงา ผมได้พบผู้ประกอบการ การท่องเที่ยวอุทยานทางทะเล ที่เห็นวิธีการจัดการการท่องเที่ยวอุทยานทางทะเลอย่างยั่งยืน และ สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจกับคนในชุมชนไปด้วยกัน แต่กรมอุทยาน ได้ออกระเบียบต่าง ๆ มาโดยข้ามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น จังหวัดพังงาอยู่ติดกับภูเก็ต เป็นทางเชื่อมการคมนาคมทางบก เดียวที่จะเข้าถึงภูเก็ต แต่การพัฒนามีอัตราที่ต่างจากภูเก็ตหลายเท่า ไม่ได้หมายความว่าต้องมีห้างสรรพสินค้าใหญ่โตแบบภูเก็ต แต่หมายถึงโครงสร้างพื้นฐานทั้ง ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา หรือ การเข้าถึงโครงข่ายการสื่อสาร ซึ่งไม่ว่าจะมีเศรษฐกิจที่เน้นการเกษตร หรือ การท่องเที่ยว ต่างต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีทั้งสิ้น โดยจะเห็นว่าในพื้นที่ ๆ ไม่ใช่ถนนหลวง สัญญาณมือถือต่าง ๆ ก็แย่และไม่ครอบคลุม นอกจากนั้น พังงา ยังต้องส่งน้ำไปเลี้ยงภูเก็ต การจัดการน้ำในพื้นที่ ที่ออกแบบโดยหน่วยราชการ ร่วมกับภาคเอกชน โดยที่ไม่ได้มองกระบวนการมีส่วนร่วม เช่น พังงาจะได้ประโยชน์อะไรบ้างกับการส่งน้ำให้ภูเก็ต ทำให้เป็นประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่






ภูเก็ต ผมได้ลงพื้นที่ ๆ หาดป่าตอง ที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่หัวใจการท่องเที่ยวของภูเก็ต สิ่งที่พบเป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือสภาพร้านค้าที่ปิดกิจการ (หวังว่าชั่วคราว) แม้แต่ห้างใหญ่ในป่าตองก็ไร้ผู้คน ป่าตองที่เคยเห็นฝรั่งเดินกันขวักไขว่ ครั้งนี้ผมไม่เห็นซักคน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่พบ ไม่ต้องบอกว่าลำบากเพียงใด แต่กัดฟันสู้เปิดกิจการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นว่า วันนี้ภูเก็ตพร้อมรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่คนที่ได้รับผลกระทบหนักจริง ๆ ไม่พ้นบรรดาลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือ ร้านค้า ลูกจ้างร้านนวดได้เล่าให้ธนาธรฟังว่า ช่วงนี้วันนึงทีลูกค้าถึง 2 คนถือว่าโชคดี ที่อยู่ได้เพราะพ่อ แม่ ที่อิสาน ส่งข้าว ส่งปลาร้า มาให้ แต่ถ้าเดือนกรกฎา ยังไม่ดีขึ้นคงต้องกลับบ้าน



เพื่อช่วยเหลือ ประทังสถานการณ์ ภาคประชาสังคมที่ภูเก็ต ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการ ได้จัด "ตลาดนัดปันสุข" เรารู้จักตู้ปันสุข แล้ว ตลาดนัดปันสุข ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดของการแบ่งปัน โดยเปิดให้พนักงานในธุรกิจต่าง ๆ ในป่าตอง ที่โดนพักงาน จากผลของโควิด-19 มาออกร้านขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ พอได้บรรเทาภาระทางเศรษฐกิจ เป็นแนวคิดที่ชุมชนท้องถิ่น ริเริ่มเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน



เรื่องสิ่งแวดล้อม ภูเก็ตมีกลุ่มจิตอาสา เดินเก็บขยะตามชายหาด เรียกชื่อกลุ่มว่า "ขยะมรสุม" ทุกวันนี้ปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ กลายเป็นปัญหาระดับโลก พื้นที่ภูเก็ต อยู่ในพื้นที่แนวทะเลอันดามัน ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะในประเทศไทย และ ประเทศพื้นบ้าน เมื่อทะเลติดกัน และ แต่ละเมืองก็มีความเจริญ อีกทั้งเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ปริมาณขยะที่หลุดลงทะเลมีจำนวนมากตามไปด้วย ทุกวันจะมีขยะในและนอกพื้นที่ภูเก็ตถูกคลื่นซัดมาติดชายหาด จำนวนมาก รอบการเก็บขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่สอดคล้องกับปริมาณขยะ ทำให้ชุมชนต้องจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อจัดการกับขยะที่เข้ามาในชุมชน ซึ่งปัญหาขยะสามารถแก้ไขให้ยั่งยืนได้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถ้าผู้บริหารปัจจุบันใส่ใจมากกว่านี้ และ หากจัดการขยะได้ดี ขยะนั้นก็จะกลับมาเป็นรายได้ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วย



ปิดท้ายที่สุราษฏร์ธานี แน่นอนว่าเกาะสมุยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ยังมีภาคการเกษตรทั้ง ยาง ปาล์ม ผลไม้ และ ประมง คอยพยุงเศรษฐกิจในพื้นที่ไว้ ซึ่งการวางนโยบายเศรษบกิจท้องถิ่นจากนี้ไป ต้องไม่มองมิติเดียว หรือ เน้นหนักไปด้านเดียว เพราะหากด้านใด ด้านหนึ่งมีปัญหา ก็จะเกิดผลกระทบไปทั้งหมด ที่สำคัญที่สุดคือในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เศรษฐกิจท่องเที่ยว หรือ การเกษตร ต้องอาศัยฐานทรัพยากรเดียวกันคือ น้ำ ป่า ทะเล ดังนั้นการคิดถึงความยั่งยืนในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญและต้องวางแผนตั้งแต่วันนี้ โดยเน้นให้ความสำคัญกับท้องถิ่น และ ให้คนในท้องถิ่นมีอำนาจจัดการทรัพยากรของเขาเอง