Thailand Urban Infrastructure Finance Assessment


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 ก.ย. 66) ผมได้มีโอกาสไปร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์
การเผยแพร่ผลการศึกษา "รายงานการประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมืองในประเทศไทย: โอกาสและความท้าทาย" จัดโดยธนาคารโลก (World Bank)
.
เรื่องโครงสร้างพื้นฐานในระดับเมืองเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ผมอยากยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น หลายคนคงเห็นว่าทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลลงทุนในโครงสรัางพื้นฐานขนาดใหญ่เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ตลอดจนการปรับปรุงสนามบินในภูมิภาคต่าง ๆ แต่เมื่อขยายภาพลงไปในท้องถิ่นที่โครงการเหล่านี้ผ่าน ก็แทบจะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ถ้านั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินภูเก็ตและต้องการเข้าเมือง หากไม่ใช่บริการแท็กซี่สนามบินที่มีราคาสูง ก็ต้องไปรอรถบัสที่มีเวลาเป็นรอบ ๆ ทำให้เสียเวลา ไม่นับการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ของภูเก็ตซึ่งแทบไม่มีรถประจำทาง หรือ หากจะส่งเสริมเรื่องขนส่งทางราง และมองในมุมมองของคนท้องถิ่นในที่นั้น ๆ เช่น นั่งรถไฟมาลงสถานีอุดรธานี แล้วต้องการเดินทางไปอำเภอกุดจับ ถ้าต้องเดินทางโดยรถสาธารณะจะต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายมาก ด้วยเหตุนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นจึงมีความจำเป็น
.
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นการรอรัฐบาลส่วนกลางทำ คงใช้เวลานานมาก และที่สำคัญรัฐบาลกลางจะทราบความต้องการของคนในท้องถิ่นดีกว่าคนในท้องถิ่นได้อย่างไร ตามหลักการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น ความท้าทายในปัจจุบันคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีงบประมาณไม่พอต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การลงทุนระบบรถโดยสารประจำทาง ไม่ว่าจะเป็นล้อยาง หรือ รางเบา ล้วนแล้วต้องใช้เงินลงทุนหลายสิบล้าน จนถึงระดับพันล้าน และต้องมีงบประมาณที่ต้องคอยอุดหนุนในช่วงแรกๆ อีก การเข้าถึงแหล่งงบประมาณของท้องถิ่นปัจจุบันยังจำกัดด้วยข้อกฎหมาย และ ระเบียบต่าง ๆ จึงมีทางออกในการระดมทุนเพื่อทำโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันไม่กี่ทาง เช่น ทำโครงการ PPP กู้เงิน (ตามแหล่งเงินทุนที่กฎหมายอนุญาต) ตั้งบริษัทพัฒนาเมืองระดมทุนจากเอกชน แต่ขณะที่หลายเรื่องยังทำไม่ได้ เช่น การออกพันธบัตร หรือ แม้กระทั้งการออกสลากกินแบ่ง ในขณะที่ประเทศที่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สามารถทำการระดมทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้หลากหลาย ทำให้การทำโครงการต่าง ๆ เป็นไปได้ง่ายกว่า
.
การศึกษากรณีศึกษาในไทยของธนาคารโลกในครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาโครงการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่เทศบาลขนาดใหญ่ 5 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง นครสวรรค์ ขอนแก่น และภูเก็ต ซึ่งมีโครงการหลายหลายที่ต้องการระดมทุน เช่น การสร้างพัฒนาศูนย์กลางการขนส่ง (TOD) การขยายโครงสร้างบริการประปา การสร้างระบบบำบัดนำ้เสีย เป็นต้น ซึ่งหลายโครงการตั้งใจจะทำในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนหรือ PPP แต่หลายโครงการก็ยังมีคำถามเรื่องแผนการลงทุนและจุดที่คุ้มทุน อย่างไรก็ตามผลการศึกษามีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม มีหน่วยงานสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีศักยภาพเรื่องการวางแผนการลงทุน รวมทั้งมีกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับท้องถิ่น ที่สำคัญหากท้องถิ่นจะริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานในวันนี้ต้องคิดถึงเรื่องการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon City ด้วยทั้งการใช้พาหนะ EV หรือการใช้พลังงานทางเลือกมาขับเมือง
.
สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องกระจายอำนาจ ปลดล็อคท้องถิ่น กระจาย งาน-เงิน-คน มาที่ท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการพัฒนาในเมืองต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เมืองใหญ่ไม่กี่เมืองในประเทศไทยเท่านั้น

ดาวน์โหลด รายงาน Thailand Urban Infrastructure Finance Assessment
Download PDF
ดาวน์โหลด สไลด์ การประเมินทางการเงินเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย
Download PDF