ทริปส่งท้ายปี 64 อุดร-สกลนคร-นครพนม


ถึงแม้จะไปอีสานบ่อย แต่ที่ผ่านคือการไปทำงาน ไม่ค่อยมีโอกาสเที่ยวมากนัก ช่วงหยุดปีใหม่เลยถือโอกาสเที่ยว ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นปี 64 ว่า จะไปงานแห่ดาว (คริสมาส) ที่ ท่าแร่ สกลนคร ครั้งนี้ชวนคนรู้ใจ ออกไปเที่ยวกัน

จุดหมายแรกคือ อุดรธานี เนื่องมาทำงานหลายครั้ง ชอบบรรยากาศ ชิลๆ ของเมืองอุดร โดยเฉพาะ หนองประจักษ์ตอนเย็น ๆ ที่น่าเดินเล่น เลยมาตั้งต้นที่นี่ กินข้าวดูบรรยากาศ แล้วเริ่มต้นวันใหม่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองอุดร เป็นพิพธภัณฑ์รุ่นใหม่ ที่จัดแสดงแบบเล่าเรื่อง ความเป็นมาของเมืองอุดรธานี ตั้งแต่การก่อตั้งเมือง การเติบโตของเมืองในช่วงเวลาต่าง ๆ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม จัดแสดงในรูปแบบ interactive กับผู้มาเยี่ยมชม
จากนั้นมุ่งหน้าไปทางตะวันออก แวะทานข้าวกลางวันที่ร้านเล็ก ๆ ใน อ.หนองหาร ก่อนเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง หลายคนคงรู้จักบ้านเชียง แหล่งประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ย้อนกลับไปได้ถึง 5,000 ปี พิพิธภัณฑ์จัดแสดงไม่ใช่แค่เครื่องปั้นดินเผาโบราณ แต่ยังมีส่วนจำลองการขุดค้นทางโบราณคดี ที่ให้ความเรื่องการขุดค้น การจัดทำข้อมูล การเก็บรักษาโบราณวัตถุ

เสร็จจากบ้านเชียง ก็ตรงไปสกลนคร ดูเวลาแล้วน่าจะต้องตรงไปที่ท่าแร่เลย จริง ๆ งานแห่ดาว หรือ งานคริสมาส นี้ชุมชนท่าแร่จัดขึ้นทุกปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่คืนวันที่ 23 เป็นขบวนรถแห่ดาว ตกแต่งรถด้วยไฟกระพริบหลากสี เป็นรูปดวงดาว และ ประวัติการประสูติของพระเยซู วันที่ไปถึงคือคืนคริสมาสอีฟ วันที่ 24 เป็นการเดินแห่ดาวแบบดังเดิม จากนั้นเป็นพิธีรับศีลมหาสนิทวันศริสมาส มาถึงชุมชนท่าแร่ดวงอาทิตย์เริ่มตกแล้ว แสงอ่อนๆ ของดวงอาทิตย์ กับอาคารเก่าในชุมชน ที่ประดับไฟวันคริสมาส ดูมีเสน่ห์แบบย้อยยุค เหมือนหลุดออกไปเมืองเล็ก ๆ ในต่างประเทศ งานจัดที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ซึ่งเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของชุมชนชาวคริสที่นั่น เสียงลั่นระฆัง และเสียงเพลงสวดวันคริสมาส และอากาศที่เย็นสบาย ให้บรรยากาศคริสมาส ที่ต่างจากใน กทม. ที่คริสมาส ดูเป็นเรื่องของการเดินเล่นในย่านการค้า หรือ เพลงคริสมาสจากห้างสรรพสินค้า ที่ท่าแร่คือ คริสมาสอยู่ในความเชื่อ ความศรัทธาของชุมชน ทุกบ้านประดับดาว และประดับไฟวันคริสมาส




เช้าต่อมา ชมเมืองเก่าสกลนคร สกลนครเป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเขมร ดังจะเห็นจากวัดพระธาตุเชิงชุม ที่ยังเห็นส่วนที่ประดิษฐานพระธาตุยังเป็นประตูแบบปราสาทเขมร จากนั้นเดินเล่นในเมืองดูภาพ Street Art ที่ชุมชนในซอยเจริญเมือง ที่ศิลปินสาย street เอาตำนานผาแดงนางไอ่ หรือตำนานหนองหารมาทำผลงาน จบทริปสกลฯ ที่วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งยังเห็นสภาพเป็นปราสาทหินที่ชัดเจน

จุดหมายสุดท้ายของทริปนี้คือ ริมโขงนครพนม พบว่านครพนมเป็นเมืองที่ชิลอีกเมือง โดยเฉพาะทางเดิน และทางจักรยานริมแม่น้ำโขง ที่สามารถเดิน ขี่จักรยานชมแม่น้ำโขงทั้งยามเช้า และ ยามเย็นได้เป็นกิโล มีลานกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะกิจกรรมสายมู บูชาพญานาค สายสุขภาพเต้นบาสโลบ สายบอร์ด สายช็อบ สายปิ้งย่าง มีพื้นที่ให้หมด จุดที่เป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรม คือหอนาฬิกาชาวเวียดนาม ที่ย้ายถิ่นมาอยู่ในไทย ภายหลังมีบทบาทในการกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส

เช้าก่อนจบทริป ได้ไปชมวัดคริสริมโขง คือวัดนักบุญอันนา จวนผู้ว่าฯ นครพนมหลังเก่า ที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงถึงการใช้ชีวิต และการทำงานของข้าราชการจากส่วนกลาง ที่ส่งมาบริหารราชการในต่างจังหวัด อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ที่ปัจจุบันปรับปรุงเป็นห้องสมุด

จบทริปที่การไปเยือนอนุสรณ์โฮจิมินห์ ที่บ้านนาจอก นครพนม แน่นอนบุคคลสำคัญอย่างโฮจิมินห์คงจะไม่มีใครไม่รู้จักนักปฏิวัติที่ปลดแอกเวียดนามจากฝรั่งเศส มาอยู่ไทย ทำงานจัดตั้งในชุมชนชาวเวียดนามที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสาน ที่บ้านนาจอก นอกจากจะมีบ้านจำลองที่เคยเป็นที่พักของโฮจิมินห์แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ความสัมพันธ์ไทยเวียดนาม ที่เล่าเรื่องราวเส้นทางการเดินทางปฏิวัติ และ การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย และ เวียดนาม ที่น่าสนใจ

ปกติทริปท่องเที่ยวปลายปีมักจะไปทะเลทางใต้ แต่ครั้งนี้มาอีสานสิ่งที่พบก็คือ การมาเห็นผู้คน มากกว่าสถานที่ เมืองในอีสานพัฒนาไป โดยกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตอบโจทย์ของผู้คนที่อาศัยในเมืองนั้น เราจึงเห็นเมืองที่ออกแบบให้ผู้คนใช้ชีวิต มากกว่าเมืองที่ออกแบบเพื่อรับนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ทริปนี้ได้เห็นความมีชีวิตชีวาของผู้คน ช่วยเติมพลังในการเริ่มต้นปี 65 ต่อไป

ไกลก้อง ไวทยการ