Budgeting trip กับ กมธ.ติดตามงบ 1


ในช่วงวันที่ 3 - 7 มิ.ย นี้ผมได้ร่วมเดินทางมาประเทศเกาหลี กับคณะกรรมมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร หรือ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ การเดินทางมาดูงาน และ เลือกมาเกาหลีในครั้งนี้ ก็เพราะประเทศเกาหลีใต้ มีกรณีศึกษา และ แนวปฏิบัติที่ดี ในการจัดการงบประมาณ และ การบริหารภาครัฐ ที่ได้รับการจัดอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล การบริหารงบประมาณ รวมทั้งความเป็นรัฐบาลดิจิทัล เหมือนกับทุก ๆ ครั้งที่ผมมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ ก็จะพยายามเขียนสรุปกิจกรรม และ สิ่งที่ได้จากการดูงานมาเล่าให้ฟัง
การเริ่มศึกษาดูงานของ กมธ.ติดตามงบ ในวันแรกคือวันจันทร์ที่ 3 มิ.ย. เริ่มด้วยการเข้าไปพบหน่วยงานที่ชื่อว่า Korea Fiscal Service (FIS) เพื่อพูดคุยเรื่องระบบสารสนเทศแบบบูรณาการเพื่อการจัดการงบประมาณที่มีชื่อว่า dBrain ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลเกาหลีใช้จัดการกระบวนการงบประมาณตั้งแต่การจัดเก็บรายได้ การบริหารการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะไปถึงการจัดทำรายงานการเงินของรัฐบาล โดยเริ่มต้นการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งปัจจุบันมีการเชื่อมโยงระบบการเงินการคลังภาครัฐกว่า 135 ระบบ ทำให้รัฐบาลรู้สถานะการเงินของประเทศแบบเรียลไทม์ และยังเปิดข้อมูลบางส่วนเป็น opendata ด้วย
ช่วงบ่ายได้ไปรัฐสภาของเกาหลี เข้าไปพบสำนักงานงบประมาณของรัฐสภาเกาหลี (NABO) ซึ่งของประเทศไทยก็มีสำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) เช่นกัน แต่ที่เกาหลี NABO มีบทบาทสำคัญในการให้ความเห็นทางงบประมาณกับ ส.ส.เกาหลี ไม่ว่าจะเป็นการทำบทวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปี การทำบทวิเคราะห์งบประมาณแนบไปกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ทำรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเป็นต้น ซึ่งเป็นหน่อยงานที่สำคัญของระบบรัฐสภา เพราะสภาต่องทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล
ทั้ง 2 หน่วยงานที่กล่าวมายังพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อพัฒนาการทำงาน และทั้ง 2 ที่ยินดีมากที่ทาง กมธ.ติดตามงบฯ จากประเทศไทยได้มาร่วมหารือด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเหมือนว่าประเทศไทยไม่ค่อยตอบรับความร่วมมือด้านระบบการเงินภาครัฐ จากเกาหลีเท่าที่ควร การมาครั้งนี้จึงเป็นการกระชับความร่วมมือ ตามภารกิจของ กมธ.ติดตามงบฯ ยังมีตารางเข้าพบ ศึกษาดูงานกับอีกหลายหน่วยงานที่จะออามาเล่าให้ฟังจนครบครับ