Budgeting trip กมธ.ติดตามงบ 2


วันที่ 5 มิ.ย. เป็นวันที่สามของการมาร่วมดูงานกับกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ฯ ในฐานะที่ผมเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ และ กมธ.ชุดนี้มี ส.ส.เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นประธานกรรมาธิการ โดยในวันที่ 2 วันที่ 3 นี้คณะกรรมาธิการได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางประเทศเกาหลีใต้ที่เมืองแดจอง (Daejeon) และเซจง (Sejong) ซึ่งมีหลายหน่วยงานย้ายออกมาจากกรุงโซลแล้วมาตั้งสำนักงานใหญ่ที่นี่

ที่แรกที่ไปคือสำนักงานบริการจัดซื้อสาธารณะของเกาหลี (Korea Public Procurement Service) ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดซื้อ จัดจ้าง ของรัฐบาลเกาหลี โดยทำผ่านระบบ KONEPS (Korea On-line E-Procurement System) สิ่งที่แตกต่างจากประเทศไทยทุกหน่วยงานจะต้องส่งคำขอจัดซื้อ และให้ KPPS ออก TOR และดำเนินการจัดซื้อให้ ซึ่งมีข้อดีคือ ควบคุมเรื่องทุจริตได้ดี เพราะแต่ละโครงการจัดซื้อ จัดจ้าง มีผู้ตรวจสอบใน KPPS กว่าพันคนคอยตรวจสอบดูแลอยู่ และ ยังกำหนดการจัดซื้อ จัดจ้างของภาครัฐให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลได้ เช่น การจัดซื้อต้องสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ ก็จะเป็นการส่งเสริมบริษัท start ups หรือ SMEs ให้มาค้าขายกับรัฐบาล นอกจากนั้น KPPS ยังพัฒนาระบบ shopping mall และ Digital Service Mall เพื่อให้หน่วยงานรัฐสั่งซื้อสินค้า และ บริการด้านดิจิทัล ผ่านระบบนี้

การเดินทางต่อไปยังเมืองเซจง เพื่อประชุมกับสำนักงานภาษีเกาหลี (National Tax Service) ศึกษาการบริการและวิธีการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า และ มีการจัดเก็บภาษีที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์แบบรวมแปลง นั้นคือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์สินเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง นอกจากจะเสียภาษีให้ท้องถิ่นเป็นรายแปลงแล้ว ยังต้องเอามารวม โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินหลายแปลงในหลายจังหวัด รวมแล้วจ่ายภาษีให้รัฐบาลกลาง ทั้งนี้เป็นมาตรการที่จะลดการถือครองที่ดินจำนวนมากเพื่อเก็งกำไร และไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษบกิจ ที่น่าสนใจคือการจ่ายภาษีให้รัฐบาลกลางไม่ว่าภาษีรายได้บุคคล นิติบุคคล หรือ ภาษีที่ดินแบบรวมแปลงนี้ ทาง National Tax Service เป็นคนคำนวณภาษีให้แล้วส่งบิลภาษีไปเรียกเก็บกับผู้เสียภาษี ซึ่งทำให้เห็นว่ามีการเชื่อมต่อข้อมูลการทำธุรกรรมแล้วทำมาคิดคำนวณภาษีอย่างดีเยี่ยม ลดภาระของผู้เสียภาษีไปได้มาก

สุดท้ายไปที่กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และ พลังงาน เพื่อหารือถึงนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มุ่งมั่นที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมผ่านหุ่นยนต์และการผสาน AI โดยวิสัยทัศน์ และ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ภายในปี 2030 นั้นตั้งใจที่จะวางเกาหลีเป็นผู้นำระดับโลกในด้านนี้

การพัฒนาหุ่นยนต์ของเกาหลีมีกลยุทธ์ที่ครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการเติบโตของหุ่นยนต์ในตลาดโลก การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะทาง เช่น servo, sensor, และ controller ไปจนถึงการสร้างพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ยังมีการสร้างกองทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ การขยายตลาดของ k-robot และการกำหนดเป้าหมายในการผลิตหุ่นยนต์จำนวนมากเพื่อใช้ในงานต่างๆ รวมถึงการใช้หุ่นยนต์ในด้านความปลอดภัย การดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุ มีการสร้างพื้นที่ทดสอบ การจับคู่ธุรกิจ พัฒนาระบบประกันภัยของการใช้งาน และการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของหุ่นยนต์ มีมาตรการการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับจุดอ่อนในการพัฒนาโรงงานและซอฟต์แวร์ที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้การพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะทำให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่ง
การดูงานของกรรมาธิการครั้งนี้นอกจาก ส.ส. #พรรคก้าวไกล แล้ว ยังมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล คือ ส.ส.นิกร โสมกลาง จาก #พรรคเพื่อไทย จ.นครราชสีมา ส.ส.ล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ จาก #พรรคภูมิใจไทย จ.สุรินทร์ ร่วมเดินทาง ซึ่งงานในคณะกรรมาธิการประกอบด้วย ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง ทั้งจากรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งหมดร่วมกันทำงาน เพื่อพัฒนาระบบจัดทำและบริหารงบประมาณของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ