Open Government กับบทบาทห้องสมุด



เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากหอสมุดแห่งชาติ ไปบรรยายเรื่อง Open Government กับการเปิดเผยข้อมูล (Open data) ซึ่งต้องขอขอบคุณทางหอสมุดแห่งชาติ ที่ให้เกียรตินี้

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หอสมุดแห่งชาติ เป็นองค์กรที่มีความสำคัญ อย่างแรกคือเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่เปิดสาธารณะ ให้ประชาชนได้เข้ามาค้นคว้า หาความรู้ ได้ตลอดเวลา อย่างที่สองคือ เป็นสถานที่หนึ่ง ที่สามารถชี้วัดได้ว่า ประเทศนั้นๆ ให้ความสำคัญกับการศึกษา การพัฒนาคน การพัฒนาเมือง ในระดับไหน

ในความเป็นประชาธิปไตย หอสมุดควรเป็นพื้นที่เสรี ที่นำเสนอแนวคิด และอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย และ การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราพูดถึงการมีส่วนร่วมในแบบที่มีช่องทางที่เป็นดิจิทัล เพื่อขยายขอบเขตของการมีส่วนร่วม และการเรียนรู้ออกไปกว้างไกลมากขึ้น ซึ่งเราใช้คำว่า "Open Government" หรือ "รัฐเปิดเผย"


ดังนั้นบทบาทของห้องสมุด โดยเฉพาะหอสมุดแห่งชาติก็สามารถส่งเสริมความเป็น "รัฐเปิดเผย" ได้ตั้งแต่การ Open data หรือเปิดข้อมูลที่เป็นโยชน์ของหอสมุดเองต่อสาธารณะ อาทิ meta data ต่างๆ ของหนังสือและสารสนเทศ ข้อมูลการจดแจ้ง ISBN เป็นต้น รวมทั้งเอื้อเฟื้อสถานที่ต่อการมีส่วนร่วม การทำประชาพิจารณ์ ประชาคม การศึกษาเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทรัพยากรสารสนเทศที่มีอยู่ และแนะนำแหล่งข้อมูลสารสนเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพิ่มทักษะประชาชน ในการเข้าถึงสารสนเทศโดยเฉพาะที่เป็นดิจิทัล เพื่อเข้าถึงบริการต่าง ๆบนโลกดิจิทัลได้สะดวก และ ปลอดภัย

นอกจากนั้น ควรมีการสร้างเครือข่าย ร่วมกับสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายห้องสมุดและหอจดหมายเหตุต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพิ่มการใช้งานสารสนเทศที่มีอยู่ เช่น สารสนเทศที่จะสนับสนุนการเรียนในโรงเรียน หรือ จดหมายเหตุรูปแบบใหม่ ๆ เช่น จดหมายเหตุเว็บไซต์ที่สำคัญในอดีต หรือ ที่เรียกว่า web archive เป็นต้น

หวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาของหอสมุดแห่งชาติทั้งที่กรุงเทพฯ และ ภูมิภาค ไปในทิศทางที่เป็นหอสมุดที่ทันสมัย เป็นมิตรกับผู้ใช้ และ เข้าสู่บริการยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบในอนาคตอันไกล้นี้


สามารถดาวน์โหลดสไลด์การบรรยายได้ที่นี่
Download PDF