Open Government Monday EP10

[Open Government Monday]
[Open Government บริการสาธารณสุขเพื่อทุกคน]
ไกลก้อง ไวทยการ



ทุกวันจันทร์ผมจะโพส เกี่ยวกับ Open Government ทั้งไอเดียที่จะนำมาใช้ และ กรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อขยายภาพนโยบาย #Opengoverment หรือ #รัฐเปิดเผย ของพรรค #อนาคตใหม่

สวัสดีช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันนี้ซึ่งเป็นวันที่ 15 หลายคนคงเริ่มเดินทางกลับมา กทม. เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดทำการหลังหยุดยาว และ เข้าสู่โหมดติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิดต่อไป เริ่มจาก 10:00 วันที่ 17 ที่ อ.ปิยบุตร เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จะไปพบเจ้าหน้าที่ที่ ปอท. กรณี พรบ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ที่ถูกเอามาใช้มากที่สุดกับผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ประกาศมาตลอดว่ากฎหมายที่นำมาใช้สกัดกั้นการแสดงสิทธิเสรีของประชาชนเช่นนี้ต้องแก้ไข

แต่อย่างไรวันนี้ก็ยังอยู่ในช่วงวันหยุด ผมขอให้ทุกท่านที่ต้องเดินกลับมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เดินทางปลอดภัย และ พร้อมสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

ในช่วงเทศกาลสงกรานค์ เรื่องที่หลีกไม่พ้นอีกเรื่องหนึ่งคืออุบัติเหตุทางถนน ซึ่งโยงกลับไปถึงความพร้อมของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และบริการสาธารณสุข ซึ่งต้องชื่นชมบุคคลากรทางสาธารณสุข ในช่วงเทศกาล ที่ต้องปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และ น่าจะมีภาระงานมากยิ่งกว่าช่วงเวลาปกติ

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับด้านบริการสาธารณสุขดี เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ได้อันดับ 4 รองจากไต้หวัน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น (https://www.numbeo.com/health-care/rankings_by_country.jsp) แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้พัฒนาอีกมากสำหรับบริการทางสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านสาธารณสุข หรือ Open Data ด้านสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกัน เพราะเรื่องสาธารณสุข หรือ สุขภาพ เป็นเรื่องของทุกคน

ผมขอยกตัวอย่างในช่วงเทศกาลเช่นนี้ สถานการณ์ที่เกิดบ่อยที่เกิดบ่อยคืออุบัติเหตุ แม้ว่าจะได้มีการเตรียมพร้อมต่าง ๆ เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) บางอย่าง จะทำให้บริการต่าง ๆ ดีขึ้น อาทิ การเปิดข้อมูลจุดจอดรถฉุกเฉิน จะทำให้เกิดแอพพลิเคชั่น ที่ช่วยจัดการรถฉุกเฉินที่สามารถไปถึงผู้ป่วยได้เร็วที่สุด และ นำไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ การเปิดข้อมูลการสำรองโลหิต ของโรงพยาบาลต่าง ๆ จะทำให้ผู้บริจาคโลหิตทราบสถานการณ์ การขาดแคลนโลหิตในกรุ๊ปเลือดต่าง ๆ ของแต่ละโรงพยาบาลได้ การเปิดเผยข้อมูลอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่นเครื่อง MRI หรือ CT Scan ว่าอยู่ที่โรงพยาบาลใดบ้าง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ระหว่างโรงพยาบาล หรือ เป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยหากต้องเข้ารับบริการตรวจรักษาด้วยเครื่องมือเหล่านี้

การ Open Data ข้อมูลทางสาธารณสุขมีสำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยมีแนวคิดของการพัฒนาดังนี้*

เกิดความรับผิดชอบ : Open Data เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อให้เกิดผลทางการรักษาที่ดีขึ้น และ เกิดความโปร่งใสในการทำงานของผู้ให้บริการทางสาธารณสุข และ เกิดการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ บนชุดข้อมูลทางสุขภาพชุดเดียวกัน

เกิดทางเลือก : Open Data เพื่อให้ช่วยให้ผู้ป่วย เกิดทางเลือก ในทางการรักษา ว่ามีวิธีการใดบ้างเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วย

เกิดประสิทธิภาพ : Open Data เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากร และ งบประมาณ ในการให้บริการสาธารณสุข

เกิดความพึงพอใจ : Open Data เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วย และ ครอบครัว ในการดูแลสุขภาพ และ ทำให้บริการสาธารณสุข ตอบสนองกับผู้ใช้บริการมากขึ้น

เกิดนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ : Open Data ทำให้เกิด Start Up ด้านสุขภาพ ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ๆ

ถ้าลองเอาแนวคิดนี้ไปจับในสถานการณ์จริง อาจจะเริ่มตั้งแต่ ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถเลือกได้ว่าจะไปใช้บริการที่สถานพยาบาลแห่งใด ที่มีแพทย์เฉพาะทาง และ อุปกรณ์ที่จำเป็น โดยไม่ต้องไปรอคิวจำนวนมาก เพราะมีข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนมีคิวจองแล้วเท่าไหร่ ส่วนข้อมูลผู้ป่วยสามารถส่งต่อบนระบบที่เชื่อมโยงกัน (ข้อมูลผู้ป่วยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เปิดเผย) ผู้ป่วย และ ครอบครัว ทราบทางเลือกในการรักษา ทั้งชนิดยา ราคายา หรือ จะมีการรักษาแบบแพทย์แผนไทย ร่วมด้วย หรือหากต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็สามารถหาเตียง หรือ ห้องพิเศษ ได้จากระบบจอง ที่แสดงข้อมูลเตียงหรือห้องที่ว่าง และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้สะดวกแบบจองโรงแรม และ เมื่อข้อมูลของผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศ อาทิ พฤติกรรมโดยรวม อาการผู้ป่วยโดยรวม ผลการรักษาโดยรวม ก็จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ พัฒนานวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจได้ดีขึ้น อาทิ มีการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะกับ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือ มี Start Up ที่ออกแบบอุปกรณ์สุขภาพ เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การใช้งบประมาณด้านสุขภาพลดลงในภาพรวม

วันนี้ผมเริ่มเห็นกระทรวงสาธารณสุขเริ่มเปลี่ยนมุมมองด้านข้อมูลสุขภาพ มาเริ่มเปิดข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้นเช่นสถิติผู้ป่วย และ ผู้เข้ารับการบริการต่าง ๆ ข้อมูลบุคลากรทางสาธารณสุข ข้อมูลตำแหน่งพิกัดของโรงพยาบาล ทรัพยากรด้านบุคลากร และ อุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ เป็นต้น ความท้าทายของเรื่อง Open Data ด้านสาธารณสุขยังมีอีกมาก ทั้งวัฒนธรรมองค์กร ข้อมูลส่วนบุคคล มาตรฐานข้อมูล และ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ดี

ที่สำคัญพรรคอนาคตใหม่ ต้องการผลักดันนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการ ให้เป็นจริงเพื่อความเท่าเทียมของคนไทย การยกระดับบริการสาธารณสุขของทุกคนให้ดีและมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในการบริการสุขภาพระหว่างข้าราชการ พนักงานเอกชนผู้ถือบัตรประกันสังคม และ ประชาชนทั่วไปที่ถือบัตรทอง จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่เปิดเผย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการยกระดับระบบสาธารณสุของไทยร่วมกัน ทั้งจากฝ่ายการเมือง บุคคลากรด้านสาธารณสุข และการแพทย์ทางเลือก ประชาชนผู้ใช้บริการ หน่วยงานประกันสุขภาพ สถาบันวิจัย ฯลฯ ดังนั้นรัฐเปิดเผย หรือ Open Government จึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นโดยเร็ว

ข้อมูล *http://www.thegovlab.org/static/files/publications/nhs-full-report.pdf
ภาพ : https://blog.econocom.com/wp-content/uploads/2016/05/sant%C3%A9-open-data.jpg

บทความนี้เป็น CC:BY นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำได้ โดยอ้างที่มา
อ่าน Open Government Monday ย้อนหลังได้ที่ https://klaikong.in.th/