Open Government Monday EP12

[Open Government Monday]
[5 แนวทาง ที่ทำให้ Open Data มีประสิทธิภาพ และโอกาสในการสร้างนวัตกรรม]
ไกลก้อง ไวทยการ



การเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบ "Open Data" นั้น ส่งผลตรงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย ข้อมูลเปิดก็จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ หรือการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ อีกทั้งยังสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อข้อมูล และในการขับเคลื่อนเรื่องข้อมูลเปิด ตัวแบบที่ประสบผลสำเร็จล้วนเป็นลักษณะจากล่างขึ้นบน (bottom up) คือฝั่งผู้ใช้ข้อมูลทั้งภาคเอกชน และประชาสังคม เรียกร้องไปยังเจ้าของข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่คือรัฐบาล เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกมามากขึ้น ที่สำคัญคือ การสร้างวัฒนธรรมข้อมูล เช่น เมื่อเห็นข้อมูลแล้วนำมาพิจารณา รวมไปถึงการตั้งคำถามกับข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งควรริเริ่มจากผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน
แนวทางที่ทำให้ Open Data มีประสิทธิภาพ และโอกาสในการสร้างนวัตกรรม
  1. ควรมีการปรับปรุง พ...ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ..2540 ให้ครอบคลุมถึงการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลเปิดที่สะดวกต่อการนำไปใช้งานต่อ และเพื่อการให้บริการในยุคดิจิทัล รวมถึงการที่รัฐต้องปรับแนวคิดเรื่องการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเนื่องจากเกรงกลัวการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพราะการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ นั้นจะทำให้รัฐได้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานให้ดีขึ้น
  2. ควรมีนโยบายสร้างแรงจูงใจในการทำข้อมูลเปิดให้กับหน่วยงานต่างๆ และควรส่งเสริมการทำข้อมูลเปิดแก่ภาคเอกชนเช่นกัน เพื่อที่จะได้ร่วมกันทำให้เกิดข้อมูลที่มีคุณค่า (high value dataset) ในการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำข้อมูลเปิดของรัฐ ควรให้คำแนะนำและสร้างช่องทางการเปิดเผยข้อมูลที่สะดวก ง่ายต่อการนำเข้าและการใช้ข้อมูล นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างผู้ให้บริการกับแอปพลิเคชั่น (Application Programming Interface: API) ด้วย
  3. การสร้างชุมชนผู้ใช้ข้อมูลเปิด เป็นสิ่งที่จำเป็น และควรส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลในมิติของเศรษฐกิจและสังคม กรณีศึกษาจากโครงการ Code for America เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือจากรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงภาคเอกชนทั้งที่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และบริษัทที่เป็น Tech Startup ที่ตั้งขึ้นจากการขยายแนวคิดนวัตกรรมจาก Open Data จนสามารถดำเนินการเชิงธุรกิจและภาคประชาสังคม โดยทั้งหมดนี้เป็นตัวเร่งในเกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับทุกคน
  4. ในการใช้ข้อมูลเปิดมาทำงานด้านวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล สื่อมวลชนยังขาดทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้เทคโนโลยีที่จะทำให้ข้อมูลมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์ที่มีความเข้าใจรูปแบบการนำเสนอข้อมูลเชิงข่าวด้วยเช่นกัน
  5. ข้อมูลเปิด หรือ Open Data นั้นหมายถึงข้อมูลที่สามารถเปิดเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ไม่ได้หมายรวมถึงการเปิดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งต้องมีกลไกปกป้องข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้

ภาพ: http://www.dbgroup.unimore.it/site2012/index.php/2-uncategorised

บทความนี้เป็น CC:BY นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำได้ โดยอ้างที่มา
อ่าน Open Government Monday ย้อนหลังได้ที่ https://klaikong.in.th/