Open Government Monday EP14

[Open Government Monday]
[Open Government Summit]
ไกลก้อง ไวทยการ



หลายสัปดาห์ก่อน ผมเคยโพสเรื่อง Open Government Partnership ไปบ้างแล้ว ทบทวนอีกครั้งนั้นก็คือกลุ่มประเทศที่รวมตัวขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเรีองรัฐเปิดเผย หรือ Open Government ด้วยกัน ดูรายละเอียดได้ที่ https://klaikong.in.th/post/open-government-monday-ep11 และในแต่ละปี กลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีการประชุมสุดยอดที่เรียกว่า Open Government Summit ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 - 31 พ.ค. ที่เมือง ออตาว่า ประเทศแคนนาดา

การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยมีผู้แทนจาก 79 ประเทศ และ 20 รัฐบาลท้องถิ่นเข้าร่วม นอกจากนั้นก็ยังมีตัวแทนภาคประชาสังคม และ หน่วยงานวิชาการเข้าร่วมอีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลแคนนาดาเป็นเจ้าภาพในการครั้งนี้ ได้ตั้งประเด็นหลักในการประชุม 3 เรื่องด้วยกัน ดังนี้

การมีส่วนร่วม (Participation) สนับสนุนให้ประชาชน และ เอกชน ในการตัดสินใจของรัฐ
ความเสมอภาค (Inclusion) สนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ชายขอบ กลุ่มเพศหลากหลาย ชาติพันธุ์ สร้างรัฐที่มีความเท่าเทียม
มีผลทางสังคม (Impact) ทำให้เรื่องของรัฐเปิดเผย มีผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน

การประชุมนานาชาติลักษณะนี้แต่ละครั้ง จะมีหลายเวทีพร้อม ๆ กัน จัดคู่ขนานกันไป ซึ่งการประชุม Open Government Summit ก็มีลักษณะเช่นนั้น แต่มีกิจกรรมมากกว่าการนั่งฟังการนำเสนอ ซึ่งก็มีรูปแบบกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ

Fishbowl จะเรียกว่าตู้ปลาได้รึเปล่า คือเป็นการคุยกันกลุ่มเล็ก ๆ ในเนื้อหาที่หลากหลาย
Knowledge cafe เป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ตั้งไว้ในแต่ละโต๊ะ ตามเวลาที่กำหนด และหาข้อสรุป
Lighting Talk เป็นการนำเสนอ เล่าเรื่องกรณีศึกษาของรัฐเปิดเผย (Open Government) ที่น่าสนใจ
Panel วงเสวนา ในประเด็นหลักสำคัญต่าง ๆ โดยผู้นำจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม
Town-hall เป็นเวทีนำเสนอปัญหา และ แนวทางแก้ไขร่วมกัน จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่าง ๆ
Challenge Clinic เป็นการพูดคุยหาข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ การทำ action plan เพื่อเข้าเป็นภาคีรัฐเปิดเผย เป็นต้น
Demo/ Experiential Learning เนื่องจากเรือง Open Government มักพูดถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชน เวทีนี้จึงเป็นเวที แนะนำเครื่องมือ และ แอพพลิเคชั่นเพื่อการสร้างการมีส่วนร่วม
Hackathon การทำต้นแบบทางเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
Workshop อันนี้คงคุ้นเคยกัน น่าจะพูดถึงกระบวนการต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม

ที่สำคัญในทุกปี Open Government Summit จะประกาศประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ โดยตัวแทนของรัฐบาลประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ จะไปรับสาส์นการเข้าร่วมจากประธาน นั้นก็คือผู้นำของประเทศเจ้าภาพ

ผมหวังว่าปีนี้อย่างน้อยประเทศไทยควรส่งผู้แทนเข้าไปสังเกตุการณ์ หรือ เตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นภาคี เพราะเรื่องนี้ถูกพักไปเพราะเราไม่ได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บัดนี้เรามีการเลือกตั้งแล้ว ก็ควรเร่งเดินหน้าเรื่องการเข้าร่วมเป็นภาคีรัฐเปิดเผย หรือ Open Government Partnership

สำหรับผู้ที่สนใจการประชุม Open Government Summit สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://ogpsummit.org/en หรืออยากดู Live ก็สามารถดูได้ที่ https://ogpsummit.org/en/summit-program/remote-participation/ ซึ่งผมก็จะติดตามการประชุมมาเล่าให้ทุกท่านฟังต่อไป

บทความนี้เป็น CC:BY นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำได้ โดยอ้างที่มา
อ่าน Open Government Monday ย้อนหลังได้ที่ https://klaikong.in.th/