Open Government Monday EP18

[Open Government Monday]
[ข้อเสนอเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน และการเปิดเผยข้อมูล]
ไกลก้อง ไวทยการ




ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างเดินทางไปเชียงใหม่ ได้มีโอกาสอ่านรายงานเรื่อง "แนวทางการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อถือไว้วางใจในระบบราชการ" จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสอนต่อ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีเนื้อหาที่น่าสนใจถึงวิธีการยื่น และ เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพ

ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง

ซึ่งวิธีการยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินฯ คือผมต้องกรอกฟอร์มยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และ ยื่นพร้อมเอกสารประกอบ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่โบราณในยุคที่เราสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้

รายงานของคณะเศรษฐศาสตร์นี้ เสนอให้พัฒนาวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน และการเปิดเผยข้อมูล ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำบนระบบออนไลน์ เพื่อเป็น Open Data และ เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ เป็นลักษณะ Linked Data โดยเสนอกระบวนการทำงานของระบบดังนี้

  1. การยื่นฟอร์ม
    • ออกแบบให้มีการกรอกด้วยตัวเองน้อยที่สุด
    • ดึงเอาข้อมูลจากฐานข้อมูลภาครัฐที่จัดเก็บอยู่แล้ว
  2. การจัดการข้อมูล
    • จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวน์
    • มีความปลอดภัยและเข้ารหัสข้อมูล
    • เปิดเผยข้อมูลเป็น Open Data
  3. การตรวจสอบข้อมูล
    • ตรวจสอบความมีอยู่และการซ้อนเร้นของทรัพย์สินและหนี้สิน
  4. การใช้ประโยชน์จากข้อมูล
    • สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบนโยบายได้
  5. การเปิดเผยข้อมูล
    • ในช่วงแรก สาธารณชนจะเข้าถึงข้อมูลได้ในแบบกลุ่ม เพื่อแสดงความโปร่งใสของภาครัฐในภาพรวม
    • ข้อมูลส่วนบุคคลจะเข้าถึงได้เพื่อตรวจสอบการทุจริตเป็นหลัก
    • ในระยะยาว ข้อมูลรายบุคคลจะถูกเปิดเผยให้กับสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อประชาชน และจะช่วยให้กลไกการมีส่วนร่วมและกลไกการแจ้งเบาะแสการทำงานได้ดีขึ้น

ในส่วนของข้อ 5 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ละคนต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสาธารณะอยู่แล้ว

รายงานยังเสนอการเชื่อมโยงข้อมูลรายได้ และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ต้องยื่นบัญชี กับฐานข้อมูลอื่น ๆ ดังนี้

  1. รายได้ประจำปี ใช้ข้อมูลจากกรมสรรพากร ทั้งในส่วนของมูลค่ารายได้ และแหล่งที่มาของรายได้
  2. ที่ดิน ใช้ข้อมูลจากกรมที่ดิน
  3. ยานพาหนะ ใช้ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก
  4. หลักทรัพย์ ใช้ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  5. หุ้นในบริษัทต่าง ๆ ใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  6. เงินฝากทธนาคาร และ หนี้สิน ใช้ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธนาคารพานิชย์

ดังนั้นหากทั้งหมด สามารถดำเนินการออนไลน์ และ มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลต่าง ๆ และ มีการเปิดเผยข้อมูล ก็จะเป็นกระบวนการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระทั้งผู้ยื่น ผู้ตรวจสอบ และเป็นช่องทางที่สะดวกที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และ ข้อมูลถูกปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอดเพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลภาครัฐอื่น ๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงคือ ป.ป.ช. ออกประกาศการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเจ้าพนักงานรัฐเปิดที่สำนักงาน 30 วัน และเปิดเผยบนเว็บไซต์ 180 วัน และวิธีปฏิบัติคือ สแกนเอกสารฟอร์มการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้งาน หรือ ประมวลผลต่อได้ ทำให้เกิดความยากลำบากทั้งตัว ป.ป.ช. เองที่ต้องทำงานบนข้อมูลกระดาษ ที่ลำบากกว่านั้นคือสื่อมวลชน และ ภาคประชาชนที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้งานหรือมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แจ้งเบาะแสต่าง ๆ

นี่ไม่นับว่า "ทรัพย์สินที่ยืมเพื่อนมา" จะไม่ปรากฏในรายการบัญชีทรัพย์สิน เพราะไม่จำเป็นต้องยื่น ตามที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ให้คำตอบในวันสัมมนา ส.ส. ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐที่สวนทางกับโลกไปทุกวัน

CR ภาพ: https://www.nacc.go.th/images/article/freetemp/article_20140923151340.pdf
บทความนี้เป็น CC:BY นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำได้ โดยอ้างที่มา
อ่าน Open Government Monday ย้อนหลังได้ที่ https://klaikong.in.th/