Open Government Monday EP5

[Open Government Monday]
[สร้าง Civic Tech หนุน Open Government]
ไกลก้อง ไวทยการ

ทุกวันจันทร์ผมจะโพส เกี่ยวกับ Open Government ทั้งไอเดียที่จะนำมาใช้ และ กรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อขยายภาพนโยบาย #Opengoverment หรือ #รัฐเปิดเผย ของพรรค #อนาคตใหม่

นโยบายรัฐเปิดเผย อยู่บนพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูล หรือ Open Data ซึ่งไม่ใช่การอัปโหลดไฟล์ pdf ขึ้นเว็บไซต์อย่างที่เราประสบพบเจอทุกวันนี้ แต่ต้องเป็นข้อมูลที่เป็น machine readable หรือ ระบบคอมพิวเตอร์สามารถนำไปประมวลผลได้ การทำ Open Data ส่งผลดีทั้งกับการพัฒนาบริการภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง และ ระดับเมืองคือส่วนท้องถิ่น และต้องทำถึงระดับมี API หรือช่องทางที่ทำให้เขียนโปรแกรมเชื่อมต่อได้

การทำ Open Data ที่จะให้เกิดประโยชน์ ต้องมีการเปิดข้อมูลที่เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ควรเปิดข้อมูลพื้นฐานดังนี้ 1. งบประมาณภาครัฐ 2. ข้อมูลสถิติของประเทศ 3. ข้อมูลการจัดซื้อ จัดจ้าง 4. ข้อมูลกฎหมายทุกฉบับ 5. ข้อมูลเขตการปกครองระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล เทศบาล 6. ข้อมูลร่างกฏหมาย 7. ข้อมูลคุณภาพอากาศ 8. ข้อมูลแผนที่อัตราส่วน 1:250,000 9. ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ 10. ข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท 11. ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 12. ข้อมูลพิกัดหน่วยงานราชการต่างๆ 13. ข้อมูลคุณภาพน้ำ 14. ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ 15. ข้อมูลการถือครองที่ดินของรัฐ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคง (ต้องตีความ) และ ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว) และเปิดอย่างไรให้ย้อนไปดูย่อหน้าข้างบน

เว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐของไทยวันนี้อยู่ที่ data.go.th พัฒนามาประมาณ 5 ปี มีชุดข้อมูลวันนี้อยู่ที่ 1,232 ชุดข้อมูล ขณะที่อินโดนีเซียพัฒนาเว็บศูนย์กลางข้อมูลในเวลาใล่เลี่ยกันวันนี้ data.go.id มีชุดข้อมูล 79,168 ชุดข้อมูล ขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มทำ data.gov ตั้งแต่ปี 2008 วันนี้มีชุดข้อมูล 246,132 ชุดข้อมูล ดั้งนั้นประเทศไทยยังต้องทำงานทั้งนโยบายการการเมือง กฎระเบียบ และ การบริหารราชการ ที่จะนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลอีกมาก

เมื่อเปิดเผยข้อมูลแล้ว ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดชุมชนผู้ใช้ข้อมูล กลุ่มที่จะนำข้อมูลไปพัฒนาเป็น Start Up หลายคนพูดถึงกันอยู่แล้ว แต่อีกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เรียกว่า Civic Tech นั่นคือกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสร้างการมีส่วนร่วม การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ปรับปรุงการบริการ เป็นการเชื่อมภาครัฐกับประชาชน เพื่อให้เกิด Open Government นั่นเอง

ในต่างประเทศ กลุ่ม Civic Tech ที่มีพอเป็นที่รู้จัก อาทิ Code for America กลุ่มนักเทคโนโลยีทำงานร่วมกับรัฐบาลของเมืองต่าง ๆ ทั่วอเมริกา เพื่อพัฒนาการบริการภาครัฐ mySociety พัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนกับรัฐด้วย platform อาทิ FixMyStreet ให้ประชาชนแจ้งปัญหาของเมือง หรือ TheyWorkForYou ระบบที่ให้ประชาชนติดต่อ ส.ส. ในเขตของตัวเองได้ตลอดเวลา

ในไทยเองก็มีการริเริ่มเรื่อง Civic Tech ด้วยโครงการต่าง ๆ ที่อาจะเคยได้ยินกันบ้างเช่น Youpin ระบบ chatbot ตัวแรก ๆ ของไทยเพื่อแจ้งปัญหาเมือง เป็นต้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการพัฒนาระบบข้อมูลทั้งที่มาจาก Open Data และ การจัดทำข้อมูลขึ้นมาใหม่ (อย่างหลังมากกว่าเพราะ Open Data ยังน้อย) ที่เป็นการให้ความรู้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่น่าสนใจมากอย่าง elect.in.th และล่าสุดจากข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท มีผู้ทำระบบเว็บเช็คข้อมูลว่าผู้สมัคร ส.ส. มีชื่อเป็นผู้จดทะเบียนบริษัทใดบ้างที่ creden.co/election

เพื่อส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม Civic Tech มากขึ้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องเปิด Open Data และเน้นที่ข้อมูลที่มีคุณภาพ สร้างสภาพแวดล้อม (ecosystem) ให้เกิดกลุ่มที่ตั้งใจจะใช้ข้อมูลภาครัฐสร้างนวัตกรรมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับประชาชน เพื่อสร้าง User Experince ใหม่ระหว่างประชาชนกับรัฐ ผ่านเทคโนโลยี ที่วันนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้สมาร์ทโพน และบัญชีโซเชียลเกือบ 50 ล้านบัญชี ซึ่งเรียกได้ว่าเทคโนโลยี และ Open Data จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชน กับ รัฐทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่น อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจต่าง ๆของภาครัฐและเป็น Open Goverment อย่างแท้จริง

อ้างอิง : https://index.okfn.org/dataset/
graphic from : https://medium.com/xangevc/can-french-vcs-back-the-rise-of-civic-tech-1953f219ffbd?fbclid=IwAR2kF9Bb1dJ4g2_0Ih3sSBwtdZ1AfqL9k7QoR7qNnt9KasjIUL5kMqSx9Gk