Open Government Monday EP8

[Open Government Monday]
[เปิดเผยข้อมูลการเลือกตั้ง : Open Election Data]
ไกลก้อง ไวทยการ


ทุกวันจันทร์ผมจะโพส เกี่ยวกับ Open Government ทั้งไอเดียที่จะนำมาใช้ และ กรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อขยายภาพนโยบาย #Opengoverment หรือ #รัฐเปิดเผย ของพรรค #อนาคตใหม่

การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย หลังจากการยึดอำนาจของ คสช. เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของพวกเราในรอบเกือบ 8 ปี ผ่านมาได้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ พร้อมข้อกังขา คาใจคนไทยอย่างมากมาย ตั้งแต่ผลการนับคะแนนเรียลไทม์ เมื่อคืนวันที่ 24 เหตุการณ์บัตรเลือกตั้งที่มาจากนิวซีแลนต์ ภาพการขนหีบบัตรคะแนน การแยกบัตรเลือกตั้งกลางป่า บัตรเขย่ง และตัวเลข ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่มีสูตรการคำนวณที่ กกต. ก็ไม่ออกมาอธิบายอย่างชัดเจน ส่งผลให้ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อ กกต. ลดลงอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏการณ์ การล่าชื่อถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระ ที่วันนี้มีผู้ลงชื่อถอดถอน กกต. แล้วกว่า 833,000 คน และ เพิ่มขึ้นทุกนาที

การเลือกตั้ง เป็นกระบวนการที่ต้องการความโปร่งใสอย่างมาก การจัดการเลือกตั้งมีกระบวนการที่ซับซ้อน แต่ทุกขั้นตอนกระบวนการต้องเปิดเผย โปร่งใสตรวจสอบได้ เว็บไซต์ https://openelectiondata.net ได้กล่าวถึงกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ที่แต่ละขั้นตอน ควรเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ที่พอสรุปได้ดังนี้

  1. การออกกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งกฎหมายการเลือกตั้งเป็นการกำหนดกติกา ของการเลือกตั้ง การออกกฎหมาย ได้ให้ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งหมด มีส่วนร่วม และ กฎหมาย หรือระเบียบนั้น ๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ กฎหมาย และ ระเบียบต่าง ๆ สอดคล้องกันหรือไม่ และ ควรพูดถึงการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างขัดเจน
  2. การแบ่งเขตการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งควรคำนึงถึง เขตการปกครอง พื้นที่ และ จำนวนประชากร สาธารณะต้องเข้าถึงข้อมูล หลักการในการแบ่งเขตเลือกตั้ง เช่น ระบบหลักการนี้ในกฎหมายการเลือกตั้ง เป็นต้น และ ควรมีคณะกรรมการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ชัดเจน และ ประกาศข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์ เช่น แผนที่ และ กิจกรรมการรับฟังความคิดเห็น เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้ง กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ
  3. องค์กรที่จัดการเลือกตั้ง องค์กรที่จัดการเลือกตั้งเอง ก็ต้องให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูล ทั้งองคาพยพขององค์กร อาทิ ที่ตั้งหน่วยงานทั่วประเทศ ข้อมูลที่ตั้งประจำหน่วย ข้อมูลเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ว่าเป็นใคร ชื่ออะไร และ มีข้อมูลที่สามารถติดต่อได้ชัดเจน
  4. กระบวนการในองค์กรที่จัดการเลือกตั้ง ต้องโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนรู้ที่มีของการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อย่างน้อยคือการเปิดเผยบันทึกการประชุมของกรรมการการเลือกตั้ง บางประเทศเช่น คณะกรรมการเลือกตั้ง อัลบาเนีย มีการ live สดการประชุมให้ประชาชนรับทราบ นอกจากนั้นต้องเปิดเผยผลรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานการเงิน รายงานการสอบสวน เป็นต้น
  5. ความปลอดภัยในการจัดการเลือกตั้ง ต้องมีความชัดเจนว่า ขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งเป็นอย่างไร บทบาทของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ชัดเจน ข้อกำหนดที่ชัดเจนในหน้าที่ของตำรวจ และ ทหารในการเลือกตั้ง รวมทั้งขั้นตอนการบันทึกที่ชัดเจน กรณีเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย หรือ ความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้ง
  6. ทะเบียนพรรคการเมือง มีพรรคการเมืองกี่พรรค ใครเป็นผู้สมัครบ้าง ทั้งระบบเขต และ บัญชีรายชื่อ
  7. การลงสมัครรับเลือกตั้ง ขั้นตอนกฎระบียนต่าง ๆ คุณสมบัติของผู้ลงรับสมัครเลือกตั้ง มีผู้สมัครกี่คน ไม่ผ่านคุณสมบัติกี่คน ใครบ้าง
  8. การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ข้อกำหนดต่าง ๆ เช่นป้ายหาเสียง การใช้สถานที่ในการปราศรัย ขั้นตอนการขออนุญาตทำกิจกรรมต่าง ๆ ข้อมูลว่าใครมาขออนุญาตบ้าง และ ผลการขออนุญาตเป็นอย่างไร
  9. การใช้งบประมาณในการหาเสียง และ ระดมทุน ควรเปิดเผยรายงานการใช้งบประมาณในการหาเสียง และ ระดมทุนของพรรคการเมือง ทั้งที่มาจากการสนับสนุนของรัฐ (อาจเป็นจากกองทุน หรือ การสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น สถานที่ เวลาในการออกสื่อ) การระดมทุนจากเอกชน และ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
  10. ทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เปิดข้อมูลเพื่อให้ทราบจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และ ผู้ที่อยู่ในทะเบียนมีสิทธิ์เลือกตั้งจริง ๆ ไม่ใช่ คนตาย หรือ อายุตำ่กว่ากฏหมายกำหนด และ ไม่สามารถไปเลือกตั้งซ้ำในหน่วยเลือกตั้งอื่น ๆ ได้
  11. การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นว่าใครเป็นผู้มีสิทธิ์ และ ใครบ้างเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ กรณีโดนตัดสิทธิ์ และหน่วยเลือกตั้ง ที่ผู้มีสิทธิ์ จะไปใช้สิทธิลงคะแนน
  12. การให้ความรู้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อาทิ วิธีลงคะแนน ระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รายชื่อผู้สมัคร และ พรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ ทั้งเป็นเอกสาร บนเว็บไซต์ กรรมการการเลือกตั้งบางประเทศ มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำเป็นเกมส์ ให้ความรู้ผู้มิสิธิ์เลือกตั้ง
  13. หน่วยเลือกตั้ง ควรให้ข้อมูลว่า หน่วยเลือกตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง (Open Data เป็น Lat,Long จะดีมาก) รายละเอียดการเดินทาง การติดต่อไปยังหน่วยเลือกตั้ง หรือ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ขั้นตอนการทำงานของหน่วยเลือกตั้ง แผนผังในหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น
  14. การประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องบอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ประเทศ จังหวัด เขต หน่วย วันที่ ๆ จัดการเลือกตั้ง จำนวนผู้มีสิทธ์เลือกตั้ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งที่มีในหน่วย จำนวนบัตรดี และ บัตรเสีย ที่สำคัญคือ ผลการนับคะแนน ตั้งแต่รายหน่วย รายเขต จังหวัด ใครเป็นคนนับ ใครเป็นคนตรวจสอบ ใครเป็นผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วย ข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น เหตุที่ทำให้ต้องนับคะแนนใหม่ การประกาศผลควรทำทั้งรูปแบบกระดาษ และ อิเล็กทรอนิกส์ที่ประมวลผลได้ (ไม่ใช่ PDF) หรือ การรายงานผลผ่านสื่อแบบเรียลไทม์ (ตรงนี้การประกาศผลวันที่ 24 มีนา ผ่านสื่อมีปัญหามาก) รวมทั้งจำนวนที่นั่งที่แต่ละพรรคการเมืองควรได้อย่างไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นแบบเขต บัญชีรายชื่อ
  15. การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาสนับสนุนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนน หรือ การประกาศผลคะแนน หน่วยงานที่จัดการเลือกตั้ง ต้องเปิดเผยว่าใครเป็นคนพัฒนาระบบ ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ หน่วยงานที่จัดการเลือกตั้ง ต้องมีการตรวจสอบ และ ทดสอบ จนแน่ใจว่าระบบปลอดภัย และ เชื่อถือได้ รวมทั้งผลการรายงานที่เข้ามาจากระบบนั้นถูกต้อง และ ควรเปิดเผย source code หรือ รหัสการเขียนโปรแกรม เพื่อให้ชุมชนหรือ ผู้มีความรู้ด้านโปรแกรมเมอร์ร่วมตรวจสอบ
  16. ข้อร้องเรียน ข้อโต้แย้ง และ ผลการตัดสิน ควรเปิดข้อมูลจำนวนเรื่องร้องเรียน ประเภทของการร้องเรียน ผลการวินิจฉัยตัดสิน และขั้นตอนการสอบสวน

ทั้งหมดที่เป็นพื้นฐานของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง เพื่อสร้างการเลือกตั้งที่โปร่งใส และ เปิดเผยสู่สาธารณะทุกขั้นตอน ลองประเมินดูครับว่า กกต. เราได้กระทำตามกระบวนการนี้ได้ดีมากน้อยแค่ไหน ผลลัพธ์ที่สังคมให้กับ กกต. วันนี้คงเป็นคำตอบได้ ขอเรียกร้องกลับไปว่าความโปร่งใสจะกลับมาเมื่อเปิดเผยผลการเลือกตั้งรายหน่วย ทั้งที่มาจากกระดาษ และ แอพพลิเคชัน Rapid Report