Seoul Open Government Innovation
Published by Klaikong,
ไกลก้อง ไวทยการ
Social Technology Institute
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้กลับไปเยือนกรุงโซล ดินแดนแห่งนวัตกรรม หลังจากที่มีโอกาสได้ไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วในงาน Asian NGO Innovation Summit หรือ ANIS งานนี้เคยมาจัดที่กรุงเทพ เมื่อปี 2013 ด้วย จริงๆแล้วจะบอกว่าการกลับไปเยือนกรุงโซลครั้งนี้ ก็มีเรื่องที่เชื่อมโยงไปถึงงาน ANIS ในครั้งที่แล้วแม้ไม่ใช่โดยตรง แต่จะโยงกันอย่างไรนั้นจะเล่าให้ฟังใน blog นี้นะครับ
การไปครั้งนี้คือไปร่วมงาน Clean Construction System (CCS) Workshop ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติจัดโดยองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และเทศบาลกรุงโซล ในวันที่ 2-4 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมงานสิบกว่าประเทศ ที่มาของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้คือ เทศบาลกรุงโซล อยากจะปฏิรูประบบการควบคุมงานก่อสร้างของเทศบาล ฯ ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความโปร่งใส และการมีส่วนของประชาชนในการติดตามการก่อสร้างของเทศบาล ทางเทศบาลกรุงโซลจึงพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดการโครงการก่อสร้างอย่างครบวงจร ตั้งแต่การประมูล การควบคุมงาน การจ่ายเงินค่าก่อสร้าง และเปิดเผยข้อมูลโครงการการก่อสร้างสู่สาธารณะในรูปแบบ Open Data เทศบาลกรุงโซลทำระบบนี้ขึ้น เปลี่ยนวิธีการทำงานโครงการก่อสร้างหรืองานโยธาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โครงการนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวัตกรรมต่อต้านการคอร์รัปชั่นดีเด่นจาก UNDP ทั้งสองหน่วยงานเลยอยากถ่ายทอดความสำเร็จครั้งนี้ให้กับประเทศอื่น ๆ
ที่ผ่านมาเทศบาลกรุงโซลมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ ช่วงการพัฒนาของเกาหลีใต้เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง บางเรื่องเป็นเพราะความประมาทของบริษัทผู้รับเหมา บางเรื่องเป็นเพราะปัญหาคอร์รัปชั่น ทางแก้คือการพัฒนาระบบขึ้นมาติดตามการก่อสร้าง โครงการนี้เกิดจากแรงผลักดันของผู้ว่าการกรุงโซลคนปัจจุบันคือคุณวูน ซูน ปาร์ค ผู้มีวิสัยทัศน์เรื่องการใช้นวัตกรรมสังคมมาแก้ปัญหา และพัฒนากรุงโซล และคุณวูน ซูน ปาร์ค นี่แหละที่เป็นผู้ริเริ่มการประชุมนวัตกรรมภาคประชาสังคม Asian Ngo Innovation Summit เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งยังเป็นประธานสถาบัน Hope Institute ก่อนประสบความสำเร็จในการได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงโซล ผมเองก็ยินดีที่ได้มาพบคุณปาร์คอีกครั้งนการประชุมครั้งนี้
ย้อนกับมาเรื่องระบบ Clean Construction System ระบบหลัก คือระบบการจัดการโครงการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่การทำสัญญางาน ติดตามความคืบหน้าของงานตามสัญญา ระบบเอกสาร ระบบการจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง ระบบจัดการทรัพยากรบุคคล สามารถเช็คสถานะและจำนวนคนงานของแต่ละไซต์งานได้ รวมถึงการจ่ายค่าแรงคนงานในตรงตางงวด ระบบจ่ายเงินให้บริษัทผู้รับเหมาและผู้รับเหมาช่วงต่าง ๆ เพื่อติดตามว่างบประมาณที่เทศบาลเบิกจ่ายออกไปถูกจ่ายไปยังบริษัทต่าง ๆ ที่อยู่ในโครงการแล้วรึยัง และ ระบบการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ประชาชนสามารถดูได้ว่าเขตไหนในโซลมีโครงการก่อสร้างอะไรดำเนินการอยู่ และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างนั้น ๆ
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ นอกจากจะมีกรณีศึกษาของประเทศเกาหลี แล้วยังมีกรณีศึกษาของประเทศอื่น ๆ ทั้งทางยุโรปตะวันออก เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบ Open Data และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการติดตามโครงการภาครัฐ
ภาพตัวอย่างระบบติดตามโครงการก่อสร้างของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของฟิลิปปินส์ใช้การภาพถ่ายพร้อม geotagging
บทเรียนที่สำคัญการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการโครงการภาครัฐ เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใส จะสำเร็จได้ต้องประกอบด้วย แรงผลักดันทางการเมือง ความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ความพร้อมทางเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
การมาประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทีมไทยแลนด์ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาร่วมทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ประกอบด้วย คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ สำน้กงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และ Social Technology Institute, Change Fusion ซึ่งจะได้มีการนำประสบการณ์จากเกาหลีมาปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และติดตามโครงการก่อสร้างของเราต่อไป แต่ที่แน่ๆ แว่วๆมาว่า ทางสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EGA เตรียมปล่อยเว็บใหม่ที่ไม่น้อยหน้าระบบติดตามการก่อสร้างของประเทศต่าง ๆ ในเร็วๆนี้