สรุปปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ไกลก้อง ไวทยการ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่
กรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร



เป็นที่สนใจของสังคม เกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่งบประมาณก่อสร้าง 12,280,000,000 บาท ที่พึ่งมีการขยายระยะเวลาสัญญาครั้งที่ 4 กับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัดชั่น จำกัด (มหาชน) ไปสิ้นสุดสัญญาที่ 31 ธันวาคม 2563 นั้น ผมในฐานะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในการประชุมของคณะกรรมาธิการ ได้เชิญบริษัท ซิโน-ไทย ฯ และ ที่ปรึกษาบริหารโครงการ และผู้ควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาให้ข้อมูล หลายครั้ง โดยผมได้รับทราบปัญหาความล่าช้า และ ขอสรุป และ ตั้งข้อสังเกตกับเรื่องนี้ดังนี้

  1. ปัญหาก่อสร้างล่าช้า เกิดจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า

รัฐสภาแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 122 ไร่ แผนการส่งมอบพื้นที่เดิมมีกำหนดเสร็จสิ้นวันที่ 30 เมษายน 2557 แต่การส่งมอบพื้นที่จริงเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 โดยข้อที่บริษัทผู้รับแจ้ง และ ทางสภาฯ ยกขึ้นมาเป็นเหตุผลหลัก คือ เจ้าของพื้นที่เดิมย้ายออกล่าช้า โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะ ที่รัฐสภาต้องจ่ายค่าชดเชยในการสร้างอาคารเรียนใหม่

ข้อสังเกต


ภาพที่ 1.1 ผังการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างอาคารรัฐสภาตามแผนเดิม


ภาพที่ 1.2 ผังการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างอาคารรัฐสภาที่เกิดขึ้นจริง

แต่อย่างไรก็ตาม จากภาพผังการส่งมอบพื้นที่พบว่า การส่งมอบพื้นที่โดยเฉพาะ ส่วนที่ใช้ก่อสร้างอาคารหลัก ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างไปเสร็จเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งในความเป็นจริงคือสามารถเริ่มก่อสร้างอาคารหลักได้ตั้งแต่ปี 2558

  1. มีปัญหาอุปสรรค เรื่องการบริหารจัดการดิน และการขนย้ายดินล่าช้า

โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีการก่อสร้างในระดับใต้ดินด้วย ทำให้มีการขุดดินในปริมาณมากกว่า 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร โดยในสัญญาภาระการจัดหาสถานที่ทิ้งดินที่ขุดเป็นภาระของเจ้าของโครงการ คือ สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎร โดยต้องจัดหาสถานที่ทิ้งดินในรัศมี 10 กิโลเมตร จากพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเจ้าของโครงการไม่สามารถหาพื้นที่ดังกล่าวได้ จึงมาใช้วิธีบริจาคและขายทอดตลาด ซึ่งใช้เวลามากกว่าเดิม และสามารถจัดการปัญหาการทิ้งดินได้ทั้งหมด เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559

ข้อสังเกต

ทางคณะกรรมาธิการกิจการสภาฯ เคยขอเอกสารเรื่องการบริจาคดิน และ การขายทอดตลาดจากทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ได้มีการส่งเอกสารกลับมา ทั้งมีนีคณะกรรมาธิการหลายท่าน ตั้งคำถามว่าบริจาค และ ขายทอดตลาด ดินในการก่อสร้างรัฐสภา ให้กับใครบ้าง

  1. การจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาทั้งส่วนงานด้านระบบ ICT และ งานสาธารณูปโภค และ สาธารณูปการล่าช้า

เนื่องจากมีปัญหาด้านงบประมาณ เดิมทีทางสภาวางแผนไว้ว่าจะได้ผู้รับจ้างมาดำเนินงานในเดือนมิถุนายน 2561 แต่ทางสำนักงานเลขาธิาการสภาผู้แทนฯ ได้รับอนุมัติวงเงินงบประมาณเมื่อ 21 สิงหาคม 2561 และลงนามจ้างบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 19 สิงหาคม 2563 และลงนามจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในงานสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และ งานระบบประกอบอาคารและงานระบบประกอบอาคารและภายนอกอาคาร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และสิ้นสุดวันที่ 5 มีนาคม 2564 และ ยังไม่มีผู้รับจ้างในงานด้านสายสัญญาณ (ท่อ สาย อุปกรณ์)

ข้อสังเกต

มีสัญญางานสาธณณูปโภคสาธารณูปการ และ งานระบบประกอบอาคารและงานระบบประกอบอาคารและภายนอกอาคาร ที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2564 และ ยังมีงานก่อสร้างประกอบสัญญาหลักที่ยังไม่ได้จัดจ้าง ขณะที่สัญญาหลักสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งอาจเป็นเหตุการขอขยายสัญญาต่อไปอีก

  1. ยังไม่สรุปแบบก่อสร้างฐานพระบรมราชาอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7

เนื่องจากคณะกรรมการจัดสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติมีมติให้ย้าย พระบรมราชาอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 (องค์เดิมหน้าอาคารรัฐสภาอู่ทองใน)ไปประดิษฐานภายในอาคารรัฐสภา และจัดสร้างองค์ใหม่ ซึ่งขณะนี้กรมศิลปากรอยู่ระหว่างการออกแบบฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์ใหม่ ซึ่งต้องเริ่มก่อสร้างภายในเดือนมีนาคม 2563 หากล่าช้ากว่านั้นจะไม่สามารถเสร็จทันวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้

ข้อสังเกต

ไม่มีข้อมูลการทำงานของทางกรมศิลปากร ซึ่งแผนและการออกแบบพระบรมราชาอนุสาวรีย์ ควรจะเสร็จพร้อมการออกแบบสถาปัยกรรมของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ตั้งแต่ต้น เหตุใดจึงพึ่งมามีการออกแบบกันภายหลัง ทั้งนี้หากไม่ทันกำหนด ก็จะเป็นข้ออ้างให้บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างขอขยายสัญญาได้

ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจทำให้มีการขยายสัญญาครั้งที่ 5 ซึ่งสัญญาเดิมก่อนการต่อสัญญาคือ นับจากวันที่ 8 มิถุนายน 2556 ถึง วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างไว้ 900 วัน แต่การต่อสัญญาครั้งที่ 4 กำหนดสิ้นสุดสัญญาใหม่เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งหมายถึงงานจะแล้วเสร็จหลังจากกำหนดการเดิม 1,853 วัน หรือ 5 ปี! โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบใด ๆ และ ไม่ได้มีหลักประกันว่าการต่อสัญญาครั้งที่ 4 นี้งานจะเสร็จตามกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้มีเงื่อนไขหนึ่งในสัญญาระบุว่า "ในกรณีที่ผู้รับจ้างรายอื่น ๆ ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่หรือผลงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานผู้รับจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาขยายเวลาของงาน ส่วนที่ต้องล่าช้าออกไป อันมีผลกระทบมาจากกรณีดังกล่าว เหล่านั้นให้ตามความเหมาะสม" ซึ่งเปิดช่องให้มีการขยายสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มาโดยตลอด

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ของความล่าช้าคือยุคที่รัฐสภาไทยอยู่ภายใต้ สภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. จึงต้องย้อนถามไปว่า ช่วง สนช. ได้ทำหน้าที่อย่างไรในการตรวจสอบการใช้เงินภาษีของประชาชนในการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ และ เป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างหรือไม่

ข้อมูลอ้างอิง
  1. ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ตุลาคม 2562
  2. ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
  3. การขยายระยะเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ครั้งที่ 4


ภาพก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จาก : https://www.google.com/maps/contrib/107325284227192910829/photos/@13.7958093,100.5174398,3a,75y,90t/data=!3m7!1e2!3m5!1sAF1QipNvvmL2lTnU2cJErtUkIdeD3MeaSQC7QjebnvSM!2e10!6shttps:%2F%2Flh5.googleusercontent.com%2Fp%2FAF1QipNvvmL2lTnU2cJErtUkIdeD3MeaSQC7QjebnvSM%3Dw365-h273-k-no!7i3264!8i2448!4m3!8m2!3m1!1e1