กระทู้ถาม 001 ร. การเข้าร่วม Open Government Partnership
Published by Klaikong,
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์กระทู้ถามที่ ๐๐๑ ร. ที่ผมยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินการสมัครเข้าร่วมเป็น ภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership : OGP) ของกระทรวงการคลัง
ความเป็นมาของ (Open Government Partnership : OGP) ผมเคยเขียนไว้ใน blog ของผมที่ https://klaikong.in.th/post/open-government-monday-ep11
เรื่องรัฐเปิดเผย หรือ Open Government เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญ เพื่อที่จะทำให้การบริหารงานภาครัฐ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส และมีความเป็นนวัตกรรม ดังนั้นเรื่อง OGP จึงเป็นเรื่องที่ผมตั้งใจตั้งกระทู้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562
ในกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีมีคำถามหลัก 2 คำถามว่า
- เหตุใดกระทรวงการคลังจึงไม่สามารถปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เพื่อเข้าร่วม Open Government Partnership (OGP) ได้ และยุติ เรื่องดังกล่าวไป
- รัฐบาลมีนโยบายท่ีจะเข้าร่วม Open Government Partnership (OGP) หรือไม่ อย่างไร และหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ถามของผมในราชกิจจาฯ สรุปว่า
- กระทรวงการคลัง เห็นว่าการดำเนินการของ OGP คล้ายกับกระบวนการมอบรางวัล บริหารราชการ แบบมีส่วนร่วม ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงมอบให้ ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OGP
- ปัจจุบันประเทศไทย ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานแล้ว แต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ การประเมินเพิ่มเติม นั่นคือ การยอมให้ภาคประชาสังคมมามีส่วนร่วม และ การต่อต้านจากภาคประชาสังคม
โดยคณะกรรมการ OGP ที่ ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพมีแนวทางดำเนินการต่อไปคือ 1. ทำเว็บไซต์ 2. สร้างเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคม เพื่อทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อเข้าร่วม OGP 3. การสร้างเวทีให้เกิดการหารือร่วมกัน ในการดำเนินโครงการของรัฐ
ในความเห็นผม คือ เรื่องการให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพในการเข้าร่วม OGP เนื่องจากกระทรวงการคลังดูแลเรื่องงบประมาณ หากโครงการของรัฐไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแบบรัฐเปิดเผย หรือ Open Government ก็จะมีกระบวนการทางการตั้งและเบิกจ่ายงบประมาณบังคับใช้ การมอบหมายให้ ก.พ.ร.เป็นเจ้าภาพ คือการโยนเรื่องนี้ออกไป โดยให้เรื่องรัฐแบบเผย มีส่วนร่วมกลายเป็นแค่แนวปฏิบัติ แต่ ไม่มีผลในการบังคับใช้ ในเอกสารที่นายกรัฐมนตรีตอบกระทู้มา พบว่าปี 2562 คณะกรรมการ OGP มีการประชุมเพียง 2 ครั้ง การดำเนินการเรื่องสำคัญทั้ง การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเพื่อทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ การสร้างเวทีให้เกิดการหารือร่วมกัน ไม่ได้ดำเนินการในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
การเข้าร่วมเป็น ภาคี OGP ที่แน่ ๆ คือ จะยกระดับด้านความโปร่งใส และ ดัชนีที่องค์กรต่าง ๆ ที่ประเมินเราจะดีขึ้น เช่น ดัชนีด้านความโปร่งใสนาาชาติ (CPI Index) ที่วันนี้อินโดนีเซียได้อันดับดีกว่าเรา (อินโดนีเซีย เป็นสมาชิก OGP ตั้งแต่ปี 2011)
สรุปคือทำแผน ทำแนวทางที่ดี แต่ไม่ทำจริง
ดาวน์โหลดเอกสาร ราชกิจจานุเบกษา เรื่องกระทู้ถามที่ ๐๐๑ ร. ที่นี่