Progressive Movement in Japan (2/3)
Published by Klaikong,
[ทริปดูงานท้องถิ่นญี่ปุ่น คณะก้าวหน้า วันที่ 2]
วันที่ 2 ของทริปดูงานท้องถิ่นที่ญี่ปุ่น ของทีมท้องถิ่นคณะก้าวหน้า ทั้งนายกเทศมนตรี นายกอบต. ส.อบจ. และ ส.ก. กว่า 30 คน ก่อนอื่นต้องบอกว่าทริปนี้นอกจากออกค่าใช้จ่ายกันเองแล้ว ข้าราชการท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำหนังสือขออนุญาตลาเพื่อมาศึกษาดูงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้ง อยู่เหนือผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
วันที่ 15 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่ 2 คณะเราเดินทางไปที่เมืองโอตะ จังหวัดกุนม่า ที่แรกที่ไปดูคือ ร.ร.อนุบาล ไฮกาชิ บันโซ โดยไปดูทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และ การเรียนการสอน เนื่องจากภารกิจหนึ่งที่สำคัญของเทศบาล และ อบต. คือ การดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดังนั้นการมาเห็น การจัดการศึกษาและดูแลเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ ร.ร.อนุบาล เมืองโอตะนี้ แน่นอนว่าอยู่ระดับดีมาก ทั้งการเรียน การสอน โครงสร้างพื้นฐาน อาคารต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเทศบาล หรือ อบต. ในไทยจะทำไม่ได้ เพราะจริงๆแล้ว หากดูให้ดี สื่อการเรียนการสอน นิทาน และ ของเล่นเด็ก ไม่ใช่ของหรูหราดูราคาแพง แต่ก็เป็นของมาตรฐานทั่วไป ที่เกือบทุกอย่างจัดหา และ ซื้อได้ แต่เรื่องที่นี่ทิ้งห่างไทยคือ การพัฒนาการเรียน การสอน และ เรื่องอาคาร สถานที่ ที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กจริงๆ ทั้งห้องน้ำ สภาพพื้นผิววัสดุต่างๆ ที่ปลอดภัยกับเด็ก มีรถรับ-ส่งที่ปลอดภัย และตกแต่งเป็นรูปรถไฟ ให้เด็กรู้สึกอยากมาโรงเรียน คุณครูของโรงเรียนอนุบาลเองก็มีความสามารถพื้นฐานเช่น ดนตรี โดยคุณครูเล่นเปียโนได้ทุกคน ที่ประทับใจมากที่สุดคือการแสดงตีกลองของเด็กๆ เพื่อต้อนรับคณะของเรา ซึ่งทำได้อย่างพร้อมเพรียง โดยมีคุณครูคอยให้กำลังใจน้องๆ อยู่ข้างๆ
จากนั้นเราได้เข้าไปพูดคุยกับคุณชิมิซุ มัสสะโยชิ นายกเทศมนตรีเมืองโอตะ ถึงการพัฒนาเมือง นายกชิมิซุ เป็นนายกเมืองโอตะต่อเนื่องมา 20 ปี เมืองโอตะ เป็นเมืองต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมรถยนต์ยี่ห้อซุบารุ ซึ่งทำให้มีอุตสาหกรรมด้านชิ้นส่วนรถยนต์ หล่อเลี้ยงเมือง เป็นแหล่งงาน ทำให้มีประชากรย้ายเข้ามาทำงานต่อเนื่อง และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ยังเผชิญปีญหาสังคมสูงวัย และเด็กเกิดน้อย เมืองโอตะมีงบประมาณตีเป็นเงินไทย 3 หมื่นล้านบาทต่อปี นายกทำนโยบายเรื่องสวัสดิการ แต่เน้นที่เด็ก เยาวชน เพราะเชื่อว่าการลงทุนกับเยาวชน คือการลงทุนกับอนาคต โดยนโยบายที่นายกชิมิซุบอกว่าภูมิใจที่สุดคือ การรักษาพยาบาลฟรีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
หลังจากนั้นนายกฯเมืองโอตะ ก็ได้พาไปชมโครงการต่างๆ อาทิ โครงการที่เมืองสนับสนุนให้บ้านเรือนติดแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วทางเทศบาลออกค่าแผงและค่าติดตั้งให้ทั้งหมด ทุกวันนี้กลายเป็นเมืองที่บ้านเรือนเกือบทุกหลังแทบไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า
เทศบาลยังสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่มีการบริหารจัดการดีมาก และ สร้างรายได้ให้เทศบาลจากการขายไฟฟ้า แต่ต้องไม่ลืมว่าระบบโรงไฟฟ้าขยะที่ดี ต้องมีการแยกขยะจากต้นทางด้วย ดังนั้นหากแยกขยะมาดี ขยะที่ส่งกลิ่นจะไม่มาที่โรงไฟฟ้า และที่โรงไฟฟ้านี้ ยังจ้างคนพิการในเมืองมาทำงานอีกด้วย
ที่สุดท้ายที่นายกฯ พาไปดูคือศูนย์กีฬาของเมือง ซึ่งนายกตั้งใจว่าจะสนับสนุนนักกีฬาของเมืองโอตะ และ ทีมของเมืองเป็นทีมระดับท็อป 10 ของญี่ปุ่น
แต่สิ่งที่นายกย้ำกับคณะดูงานท้องถิ่น คณะก้าวหน้าก็คือ การจะทำเรื่องต่างๆ นี้ได้ ต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐราชการส่วนกลางตลอด และไม่ได้สู้คนเดียว ต้องมีเพื่อนในท้องถิ่นอื่นๆ สู้ด้วยโดยเฉพาะเรื่องของการใช้งบประมาณเพื่อบริการประชาชนให้เต็มที่
ที่สุดท้ายที่ดูงานของวันที่ 2 คือการเยี่ยมชมโรงงานผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์โอกิฮาร่า ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของนักธุรกิจไทย มีมาลงทุนซื้อกิจการ และ บริหารโดยคนไทย นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนให้ โรงงานรถยนต์หลายยี่ห้อในญี่ปุ่น และ ต่างประเทศ
เขียนยาวหน่อย เพราะโปรแกรมแน่นทั้งสถานที่ๆ เยี่ยมชม และเนื้อหาที่ได้รับ