Progressive Movement in Japan (3/3)

[ทริปดูงานท้องถิ่นญี่ปุ่น คณะก้าวหน้า วันที่ 3]
วันที่ 1 https://klaikong.in.th/post/progressive-movement-in-japan-1-3
วันที่ 2 https://klaikong.in.th/post/progressive-movement-in-japan-2-3

วันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นของทีมท้องถิ่น #คณะก้าวหน้า วันนี้มุ่งหน้าไปที่เมืองโยโกเซะ (Yokoze) จังหวัดไซตามะ หรือ เดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมงจากโตเกียว

เมืองโยโกเซะ มีประชากรประมาณ 8,000 คน ถือว่าเป็นเมืองขนาดเล็กในญี่ปุ่น มีนายกเทศมนตรีชื่อคุณยาชิโนริ โทมิตะ นายกโทมิตะบอกกับพวกเราว่า เมืองโยโกเซะก็เจอกับความท้าทายเหมือนเมืองอื่น ๆ คือจำนวนประชากรลดลง และเมืองเองก็เป็นเมืองเล็ก ๆ และยังมีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ แม้โรงงานจะเป็นแหล่งรายได้หลักของเมืองแต่ก็ไม่ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยว


พอนายกโทมิตะเข้ามาบริหาร ได้ประกาศวิสัยทัศน์เมืองว่า โยโกเซะ ต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นเมืองที่ญี่ปุ่นภาคภูมิใจที่สุด และตั้งโครงการ Yokolab หรือทำให้เมืองเป็นห้องทดลอง ดึงความร่วมมือจากภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม ส่งโครงการที่จะพัฒนาเมืองโยโกเซะ เข้ามาทั้งที่อยากใช้เมืองเป็นที่ทดลองต้นแบบ หรือ ให้เมืองลงทุนร่วมในโครงการนั้น ๆ รวมทั้งเปลี่ยนศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนเดิม ให้เป็น co-working space ที่มีทั้งส่วนทำงาน ประชุม ครัว และพื้นที่ทำกิจกรรมของชุมชน นายกโทมิตะบอกว่า ที่ผ่านมามีโครงการต่าง ๆ เกิดใน Yokolab แล้ว 119 โครงการ มี 5 โครงการที่ใช้งบประมาณของเทศบาลในการลงทุนร่วม เช่น เรื่องระบบเทคโนโลยีในโรงเรียน เป็นต้น

โครงการล่าสุดที่เพิ่งเปิดจาก Yokolab คือ NAZELAB (joy lab) เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเยาวชน เน้นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และ เทคโนโลยี มีห้องสมุดหนังสือวิทยาศาสตร์ และจัดกิจกรรมกับเยาวชนในสุดสัปดาห์ โดยเป็นการลงทุนขององค์กรเอกชนทั้งหมด

Photo by: https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000000024.000075570.html
หลังจากนั้นคณะเราไปดูแหล่งท่องเที่ยว ที่คนในชุมชนร่วมกันสร้างขึ้นมาชื่อว่า Ashigakubo Icicle หรือสวนน้ำแข็งบนภูเขา แหล่งท่องเที่ยวนี้คนในชุมชนร่วมกันคิดและพัฒนา โดยเริ่มจากบริษัทซีเมนต์ที่มีโรงงานในเมืองนี้ ดำเนินกิจการเดินรถไฟในเมืองด้วย แต่ด้วยปัญหาประชากรที่ลดลง คนใช้บริการรถไฟน้อย บริษัทจึงอยากจะหยุดให้บริการรถไฟในเวลานั้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเมืองนี้เดือดร้อน ชาวเมืองจึงต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรจะดึงดูดผู้คนมาใช้บริการรถไฟได้ จึงคิดในเรื่องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวในเมืองนั่นก็คือสร้างสวนน้ำแข็ง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในฤดูหนาว และ กิจกรรมแคมปิ้งในฤดูร้อน ซึ่งก็ได้ผล จากเดิมมีผู้โดยสารรถไฟเดือนละเฉลี่ย 1,000 คน ก็เพิ่มผู้โดยสารรถไฟที่เป็นนักท่องเที่ยวด้วยที่ประมาณ 25,000 คนต่อเดือน ซึ่งทำให้กิจการเดินรถไฟดำเนินต่อไปได้
สวนน้ำแข็งที่ว่านี้ เป็นนวัตกรรมที่ทำง่าย ๆ คือใช้วิธีพ่นสเปรย์น้ำไปยังอากาศเย็นจัด ที่เป็นปกติในช่วงฤดูหนาวอยู่แล้ว เมื่อนำ้ไปเกาะที่หิน ต้นไม้ กิ่งไม้ ตลิ่งริมลำธาร ก็กลายเป็นน้ำแข็ง กลายเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม ดึงดูดคนให้มาเที่ยว แต่ที่ประทับใจกว่านั้นคือบริการของชุมชน ซึ่งเมื่อเดินมาถึงจุดชมวิวด้านบนแล้ว จะได้รับสาเกร้อนไปนั่งดื่มเพื่อชมทิวทัศน์ โดยชุมชนได้รายได้จากการเก็บค่าเข้าชม และยังมีกิจกรรมต่อเนื่องเช่น นำบัตรค่าเข้าชมสวนน้ำแข็งไปเป็นส่วนลด แช่น้ำร้อน หรือ ออนเซน หรือจะไปไร่สตอร์เบอรี่ที่มีสตอร์เบอรี่แบบบุฟเฟ่ต์บริการ รายได้นำเข้ากองทุนการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อบำรุงสถานที่ท่องเที่ยวและแบ่งรายได้ให้สมาชิกในชุมชน เป็นนวัตกรรมจากการต้องการแก้ปัญหาเรื่องการให้บริการรถไฟ แบบทำน้อย ได้ผลเกิดคาดอย่างแท้จริง

สุดท้ายก็ของจบการรายงาน จากทริปการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ผมเชื่อว่า นายกเทศมนตรี นายกอบต. ส.อบจ. และ ส.ก. ที่ลงทุนมาร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้จะได้รับความรู้ และ แรงบัลดาลใจ จากการมาเห็นว่าศักยภาพของท้องถิ่น ถ้าใช้อย่างเต็มที่ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ได้ และจะได้เต็มศักยภาพมากกว่าปัจจุบัน ต้อง #ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อดึงทุกศักยภาพในท้องถิ่นมาใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างเมือง หรือ ชุมชน ที่น่าอยู่ มีการศึกษาที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในกับประชาชนในเขตการดูแลของท้องถิ่น โดยไม่ต้องรอ หรือ ร้องขอให้ราชการส่วนกลาง รัฐมนตรี ส.ส. มาบัลดาลให้

วันที่ 1 https://klaikong.in.th/post/progressive-movement-in-japan-1-3
วันที่ 2 https://klaikong.in.th/post/progressive-movement-in-japan-2-3