Open Government Monday EP19

[Open Government Monday]
[Open Government รัฐเปิดเผยเพื่อท้องถิ่น]
ไกลก้อง ไวทยการ


เมื่อสัปดาห์ก่อน พรรคอนาคตใหม่ได้ประกาศแนวทางการเมืองระดับท้องถิ่นของพรรคว่า ทีมที่จะลงเลือกตั้งท้องถิ่น ของอนาคตใหม่ ต้องทำนโยบาย โดยมี 5 เรื่องหลักคือ

1.ขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น
2.รัฐเปิดเผย (Open Government)
3.การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting)
4.การจัดการศึกษาในท้องถิ่น ที่คนในท้องถิ่นเป็นทีมบริการโรงเรียน
5.การกำจัดขยะอย่างยั่งยืน

สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ ในระดับท้องถิ่นคือ ข้อ 2 และ ข้อ 3 นั่นคือ รัฐเปิดเผย (Open Government) และ การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) จากหลายกรณีประชาชนในระดับเมือง (ท้องถิ่น) ในหลายประเทศได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

รัฐเปิดเผย หรือ Open Government เป็นนโยบายที่เน้นเรื่องความโปร่งใส และ การมีส่วนร่วม ซึ่งเมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาท้องถิ่น ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม คือหัวใจสำคัญ การทำ Open Government สิ่งที่เป็นพื้นฐานคือการเปิดเผยข้อมูล หรือ open data หลายเมืองในต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลของเมืองผ่านทางเว็บไซต์ของเทศบาลเมือง หรือ จังหวัด ตั้งแต่เรื่องงบประมาณ รายรับ รายจ่าย จัดซื้อ จัดจ้าง โรงเรียน โรงพยาบาล สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเกษตร ความปลอดภัย ภัยพิบัติ ในรูปแบบชุดข้อมูล (data set) ที่นำไปประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ต่อได้ นอกจากนั้นการให้บริการขององค์กรท้องถิ่นยังพัฒนาการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะระบบการขออนุญาตต่าง ๆ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น และ ลดช่องทางการขออนุญาตผ่านบุคคล อันเป็นสาเหตุหนึ่งของคอร์รัปชั่น เรื่องที่สำคัญคือทีมบริหารท้องถิ่น จะต้องมีข้อมูลที่จะติดตามและประเมินผลการทำงาน ในรูปแบบข้อมูล ยกตัวอย่างของนครบอสตัน ที่ผู้ว่าการเมืองทำ city dashboard คอยติดตามการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ เช่น การเก็บขยะ การซ่อมถนน หรือ งานโยธา จำนวนผู้ใช้บริการของเทศบาล ห้องสมุดสาธารณะ ฯลฯ เพื่อฝ่ายบริหารจะได้ประเมินคุณภาพการทำงานได้ตลอดเวลา

การทำ Open Government หรือรัฐเปิดเผย จะส่งผลถึงระบบขนส่งสาธารณะในเมือง อาทิ เส้นทางรถเมล์ในเมืองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือ คุณภาพการศึกษา อาทิ การประเมินผลการเรียนโดยภาพรวมของโรงเรียนที่เทศบาลนั้น ๆ รับผิดชอบ หรือ การกำจัดขยะ ทั้งการลดปริมาณขยะ การจัดการการเก็บขยะ พื้นที่ ๆ เหมาะสมในการทำโรงงานกำจัดขยะที่เหมาะสม ล้วนใช้ข้อมูลเพื่อการมีส่วนร่วมของคนในเมือง ในการตัดสินใจ ที่สำคัญคือพื้นที่ที่คนในเมืองเพื่อการมีส่วนร่วม ไม่ว่าการทำประชาคม หรือ town hall ที่สามารถทำได้ทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์

การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Budgeting คือ วิธีการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการใช้เงินภาษี หรือ เงินงบประมาณ ในระดับประเทศมีแนวทางมี่จะทำได้ เช่น สอบถามผู้เสียภาษีเงินได้เมื่อ ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรือ อาจจะทำประชามติ ในการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ และ เป็นที่ถกเถียงของสังคม แต่ในระดับท้องถิ่นมีกรณีศึกษาดี ๆ เรื่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้งบประมาณท้องถิ่น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://klaikong.in.th/post/open-government-monday-ep6

ไม่ว่าการทำ รัฐเปิดเผย หรือ การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม รัฐบาลส่วนกลางจะต้องสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีศักยภาพในการทำ ใช้ และ เปิดเผยข้อมูลที่เป็น data คุณภาพ สามารถใช้งานได้เพื่อฝ่ายบริหารใช้ตัดสินใจ และ ประชาชนมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ฝ่ายเครื่องมือทางดิจิทัลได้โดยสะดวก ที่ประเทศเกาหลีใต้มีองค์ที่ชื่อว่า Korea Local Information Research & Development Institute (https://www.klid.or.kr/eng/) ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้ data เพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการพัฒนาเครื่องมือทางดิจิทัลกลาง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเทศเกาหลีใต้นำไปใช้ได้ ในประเทศไทย ยังไม่มีหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะเจาะจงสำหรับการทำหน้าที่นี้ มีคล้ายกันคือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเน้นที่รัฐบาลส่วนกลางเป็นหลัก

การทำรัฐเปิดเผย หรือ open government ในระดับท้องถิ่น จะเกิดผลสูงสุดคือต้องกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นได้ตัดสินใจดำเนินการตามความต้องการของตัวเองได้ วางแผนและใช้งบประมาณ ของตัวเองโดยรัฐบาลส่วนกลาง และ ภูมิภาค เข้าไปแทรกแซงน้อยที่สุด ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความเชื่อใจ และ ไว้วางใจในการทำงาน ทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่น รัฐบาลท้องถิ่นกับประชาชนในท้องถิ่น และรัฐบาลกลางกับประชาชน ต้องไว้ใจว่าประชาชนมีศักยภาพในการพัฒนาท้องถิ่น และรับผิดชอบ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ การทำงาน การใช้งบประมาณ ของท้องถิ่นได้ รวมถึงรัฐต้องรับฟังเสียงสะท้อนการทำงานของประชาชนโดยตลอด ทั้งทางตรงและผ่านตัวแทน เพื่อให้เกิดสภาพรัฐคือประชาชน และ ประชาชนคือรัฐ

Cr ภาพ: https://www.klid.or.kr/eng/images/main/mainVis/mainVis1_1024.jpg
บทความนี้เป็น CC:BY นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำได้ โดยอ้างที่มา
อ่าน Open Government Monday ย้อนหลังได้ที่ https://klaikong.in.th/